บูติค โอเต็ล เชียงใหม่

‘เก๊าไม้ล้านนา’ รีสอร์ตเก๋ ขนาดเล็กความคิดใหญ่ 0

บรรยากาศยามราตรี
การบริหารธุรกิจรีสอร์ตเล็กๆ ด้วยความคิดใหญ่ๆ ในชื่อ “เก๊าไม้ล้านนา” มรดกจากรุ่นพ่อแม่ สู่รุ่นลูก ไม่ใช่ตกทอดมาแค่วัตถุ แต่ส่งต่อจิตวิญญาณที่ดีมาด้วย โดยขับเคลื่อนอย่างมีกลยุทธ์ ทิศทางชัดเจน พร้อมวางเป้าหมายสูงสุดเพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืน ทั้งธุรกิจและชุมชน
ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงและปัจจัยภายนอกที่ไม่เอื้ออำนวย กับหลายธุรกิจ รวมถึงธุรกิจที่พักท่องเที่ยว ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่อ่อนแอเพียงแค่รักษาตัวรอดหรือชะลอตัว แต่รายที่แข็งแรงจะได้เปรียบกว่าและเติบโตต่อไปได้
“เก๊าไม้ล้านนา” แม้จะเป็นรีสอร์ตเล็กๆ ในอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ แต่มีแนวคิดและวิธีบริหารจัดการธุรกิจด้วยวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล นอกจากจะชัดเจนในคอนเซ็ปต์ทางธุรกิจ ซึ่งทำให้สามารถวางรากฐานที่แข็งแกร่งได้แล้ว ยังมีกลยุทธ์ที่แตกต่างหลากหลายในเชิงรุกเพื่อสร้างความสำเร็จอีกด้วย

ด้านหน้าทางเข้ารีสอร์ต
๐ วางรากฐานบริหารคนตรงจุด
เมื่อ 3 ปีก่อน หลังจากที่เรียนจบปริญญาโทในสาขา Cultural Management จากประเทศฝรั่งเศส “ขัตติรัตน์ เชิดสถิรกุล” จึงกลับมาเป็นแกนหลักในการรับช่วงสืบสานธุรกิจรีสอร์ตขนาด 36 ห้อง ซึ่งดัดแปลงมาจากโรงบ่มใบยาสูบเก่า ที่กลายเป็นจุดขายที่แตกต่างอย่างโดดเด่นของรีสอร์ตแห่งนี้ และยากที่ใครจะเลียนแบบได้เหมือน
ด้วยพื้นฐานและความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการวัฒนธรรมที่มีระบบอย่าง ชัดเจนของประเทศซึ่งมีนักท่องเที่ยวมากที่สุด ทำให้สามารถนำมาปรับใช้กับเก๊าไม้ฯ และชุมชนสันป่าตอง เพื่อสร้างจุดขายใหม่ให้ทั้งธุรกิจของตนเองและท้องถิ่น นอกจากจะเข้าใจจุดเด่นที่มีอยู่อย่างชัดเจนในส่วนของโรงบ่มใบยาที่มีเรื่อง ราวและเอกลักษณ์ของตนเองแล้ว เธอยังเพิ่มความพิเศษให้กับ “เก๊าไม้ล้านนา” จากความเป็น boutique resort ด้วยการวางคอนเซ็ปต์ให้เป็น “community based resort” อีกด้วย

ห้องพัก เต็มไปด้วยต้นไม้ ใบไม้
“ข้อมูลของชุมชนมาจากการที่เราอยู่กับชุมชนนี้มานานแล้ว ในขณะที่ พนักงานของเก๊าไม้ฯ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 30 คน เป็นคนในชุมชนทั้งหมด และในช่วง 3 ปีที่มาช่วยดูแลที่นี่พบว่าปัญหาเรื่องบุคลากรมีความสำคัญมาก” เจ้าของธุรกิจ ระบุ
อย่างไรก็ตาม วิธีการที่ใช้ได้ผลคือให้พนักงานเรียนรู้วัฒนธรรมต่างถิ่น เปิดโอกาสเปิดโลกทัศน์เรียนรู้การทำงานอย่างมืออาชีพตามแบบโรงแรมระดับ 5 ดาว ด้วยการใช้ความนิ่มนวลและใช้เวลาในการปรับทัศนคติและพฤติกรรมว่าแบบไหนควรทำ ไม่ควรทำ รวมทั้ง การสร้างความสุขในการทำงานร่วมกัน เพราะธรรมชาติของคนท้องถิ่นที่นี่มีใจบริการอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันลูกค้ากว่า 70% ที่เป็นชาวต่างชาติพอใจกับบริการมากขึ้น

เน้นบรรยากาศ ตกแต่งด้วยไม้โบราณ
นอกจากนี้ ด้วยความคิดที่มองว่าธุรกิจอยู่โดดเดี่ยวไม่ได้ จะต้องเป็นมิตรกับชุมชนเป็นเพื่อนบ้านที่ดี อยู่ร่วมกันและไปด้วยกันได้ จึงคิดว่าควรจะถ่ายทอดให้คนในชุมชนได้รู้ด้วย เช่น ให้นักเรียนเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นและมาเป็นไกด์ทำให้ภาษาอังกฤษซึ่งเด็ก ต้องเรียนอยู่แล้วจะได้มีโอกาสนำออกมาใช้จริง และเพราะพนักงานเป็นคนในชุมชน การทำให้ชุมชนดีจะทำให้พนักงานดีไปด้วย และมีความสัมพันธ์กันกับธุรกิจไม่เฉพาะในปัจจุบัน แต่ยังส่งผลถึงอนาคตด้วย

กิจกรรมเพื่อสังคม
๐ สร้างจุดขายที่แตกต่าง-โดดเด่น
ในส่วนของนักท่องเที่ยว เก๊าไม้ฯ สร้างแรงดึงดูดด้วย “ประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร” โดยจุดแข็งอยู่ที่การคุยกับลูกค้าทำให้รู้ความต้องการที่ละเอียดชัดเจน แล้วนำมาให้บริการแบบ customize package และได้ความคิดใหม่ที่ดี ทำให้มองเห็นภาพรวมชัดขึ้นและแตกต่างจากเดิม เช่น แทนที่จะขายแหล่งท่องเที่ยวเดิมๆ คือดอยอินทนนท์หรือบ้านถวาย แต่ทำให้นักท่องเที่ยวเล่าได้มากขึ้น ไม่ใช่แค่เก๊าไม้ฯ เป็นโรงบ่มใบยาสูบมาก่อน ยังมีเรื่องของชุมชนสันป่าตอง และมีการจัดแผนที่เส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรมของสันป่าตองที่ไม่เคยทำมาก่อน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเก๊าไม้ล้านนากับชุมชนที่ทำขึ้นมา
“เราชัดเจนว่าต้องทำโรงแรมให้มีส่วนร่วมกับชุมชน ต้องอธิบายตัวเราและวิถีชีวิตชุมชนให้ได้ ทำให้นักท่องเที่ยวนำประสบการณ์ที่ได้รับแบบไม่เหมือนใครไปเล่าต่อ ซึ่งประสบการณ์นั้นที่สำคัญต้องมาสัมผัสเองจึงจะรับรู้ได้” ขัตติรัตน์ ย้ำถึงกลยุทธ์
ย้อนไปเมื่อประมาณกลางปี 2550 เริ่มโครงการเก๊าไม้ล้านนากับชุมชนซึ่งเป็นกิจกรรมและกลไกที่ทำให้นักท่อง เที่ยวได้รับประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร เช่น นิทรรศการลานนาอิมเมจ ซึ่งมีศิลปินที่มีชื่อเสียง เช่น ทำนุ หริพิทักษ์ มาแสดงผลงานศิลปะ เป็นการปูพื้นฐานภาพรวมให้รู้จักวัฒนธรรมของล้านนาหรือเชียงใหม่ นอกจากนักท่องเที่ยวจะรู้สึกได้รับสิ่งที่พิเศษกว่าที่คาดคิด ยังเป็นจุดเริ่มของการสื่อให้ชุมชน ศิลปิน และคนเชียงใหม่ได้รับรู้ทันทีว่าเก๊าไม้ฯ สนใจในวัฒนธรรมของชุมชน
เพื่อให้ใกล้ตัวมากขึ้น จึงมีการจัดกิจกรรมประกวดภาพ“วิถีล้านนาในมุมมองของฉัน” เพราะอยากรู้ว่าเด็กๆ มองวัฒนธรรมที่อยู่ในชีวิตประจำวันอย่างไร และมีการทำเป็นโปสการ์ดขาย ซึ่งรายได้ทั้งหมดนำเข้ากองทุนเก๊าไม้ชุมชนเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็ก ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อเอชไอวี เพราะชุมชนมีปัญหาจากผลกระทบของโรคเอดส์ มีพ่อแม่ที่เสียชีวิตและลูกที่ต้องกำพร้า นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมศิลปะปูนปั้น ซึ่งไม่จำกัดและศิลปะล้านนา มีศิลปินระดับชาติมาร่วม และเปิดให้นักท่องเที่ยวทดลองปั้นกับศิลปินมืออาชีพ การสอนทำโคมลอยเพื่อให้นำมาปล่อยในเทศกาลลอยกระทง

๐ เครื่องมือใหม่เชื่อมโยงชุมชน
สำหรับแผนที่เส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรมอำเภอสันป่าตองที่เพิ่งจะเสร็จ พร้อมใช้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ไม่ได้บอกแค่แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นจุดหมายปลายทาง แต่ทำแยกให้เห็นเป็นเส้นทาง ในเบื้องต้นซึ่งเริ่มเป็นครั้งแรกทำเป็น 3 เส้นทางเพื่อให้เดินทางไปได้สะดวก ไม่คดเคี้ยวเกินไป และมีความแตกต่างกัน
ด้วยการสร้างจุดเน้นไปที่การท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคน พื้นบ้านและศิลปวัฒนธรรมของสันป่าตอง โดยเลือกจากความโดดเด่นของชุมชนซึ่งจะให้ประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร เช่น บ้านต้นแหนน้อย ถึงจะมีอายุเป็นร้อยปี แต่ปัจจุบันยังมีการใช้ชีวิตจริงๆ อยู่ในบ้านนั้น แต่ปรับวิธีการอยู่ด้วยการนำความสะดวกสบายที่มีอยู่ในปัจจุบันไปประยุกต์ให้ เหมาะสม หรือการตีมีดซึ่งเป็นทั้งงานเพราะต้องทำมาใช้แต่ยังมีศิลปะในการตีด้วย จึงเป็นเสน่ห์ให้คนอยากดู ซึ่งหาดูไม่ได้ที่อื่น
“เรามีจักรยานให้แขกที่มาพักใช้บริหารฟรีมานานแล้ว ขี่ไปไหนก็ได้ แต่มักจะมีคำถามว่าจะไปไหนดี? และปัญหาคือไปไม่ถูก ไปยังไง? กลายเป็นความคิดให้ทำแผนที่ขึ้นมาเป็นวิธีที่ทำให้เที่ยวได้ และคิดว่าควรทำเป็นภาพรวมดีกว่า ไม่ได้มองเฉพาะต่างชาติที่ชอบขี่จักรยาน แต่มองคนไทยซึ่งนิยมขับรถเที่ยวและชอบไปหลายๆ ที่ เห็นหลายๆ อย่างภายในวันเดียว”

ส่วนห้องอาหาร
ด้วยความต้องการที่แตกต่างกันของนักท่องเที่ยวทำให้คิดรูปแบบการนำเสนอ การท่องเที่ยวตามแผนที่นี้เป็น 2 แบบ คือ แบบแรก นักท่องเที่ยวไปเอง จะมีแผนที่ซึ่งมีข้อมูลที่จำเป็นอยู่ด้วย เช่น บ้านซึ่งเป็นเหมือนศูนย์ประสานงาน เพื่อจะให้เข้าไปชมได้สะดวกเพราะต้องมีการบอกกล่าวกันก่อนขอเข้าชม กับแบบที่สอง เป็นบริการจัดแพ๊กเกจทัวร์กลุ่มเล็กๆ นักท่องเที่ยวไม่เกิน 10 คน โดยมีไกด์ท้องถิ่นให้ข้อมูลได้อย่างละเอียด
๐ แนวทางสร้างความยั่งยืน
เส้นทางท่องเที่ยวฯ ได้มีการทดลองใช้เพื่อดูการตอบรับไปก่อนหน้านี้แล้ว และมีการนำไปลงในแค็ตตาล็อกของเอเย่นต์ทัวร์ในประเทศแถบยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เพราะในส่วนของเก๊าไม้ฯ ได้เข้าไปอยู่ในข้อมูลการขายในฐานะ eco lodge ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ที่รู้จักดีและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวยุโรปอยู่แล้ว โดยได้รับคัดเลือกจาก tour operator รายใหญ่ เช่น Jet Tour ให้เป็น 1 ใน 5 eco lodge ในไทย
“eco lodge หรือ community based resort นั้น จริงๆ เราเป็นอยู่แล้วตั้งแต่แรก เพราะเราอยู่กับชุมชนมาตลอด แต่ไม่เคยนำมาเป็นประเด็น แต่ครั้งนี้นำมาสื่อสารเพราะมันชัดเจนอยู่แล้ว ยืนยันให้เห็นได้ ซึ่งหลักๆ คือ ใกล้ชิดกับธรรมชาติที่สุด ปลอดภัยที่สุด ประหยัด และใส่ใจสิ่งแวดล้อม เช่น เครื่องดื่มที่จัดเตรียมไว้ในห้องพักมีการเลือกบรรจุภัณฑ์แบบขวดแก้ว ซึ่งนำมารีไซเคิลได้ง่ายกว่าพลาสติก เป็นการช่วยลดขยะ อาคารห้องพักนอกจากโครงสร้างของโรงบ่มใบยาเป็นอิฐซึ่งเย็นอยู่แล้ว ยังปลูกต้นตีนจกเพื่อช่วยประหยัดแอร์ การใช้ไม้เก่ามาทำเฟอร์นิเจอร์ ไม่ต้องตัดไม้ใหม่ โรงอบผ้าพลังแสงอาทิตย์ และการปลูกพืชพันธุ์ไม้เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”


ภายในห้องพัก
ด้วยการจัดการแบบยั่งยืน สร้างระบบและอยู่ร่วมอย่างมีความสุข การอนุรักษ์ที่ผสมผสานการพัฒนา ร่วมกับการเติบโตมากับชุมชน ในภาพรวมรีสอร์ทเก๊าไม้ล้านนาเป็นธุรกิจ แต่เก๊าไม้ล้านนาชุมชนทำเพื่อสังคมไม่หวังผลกำไร ทำให้ธุรกิจกับชุมชนอยู่ร่วมกันได้ในระยะยาว
นอกจากนี้ ศิลปินท้องถิ่นได้ถ่ายทอดความคิดดีๆ เอาไว้ด้วย เช่น สล่าสมาน ซาวสิงห์ ศิลปินอาวุโสซึ่งมีฝีมือในการปั้นสิงห์บอกว่าที่คิดค่าปั้นไม่แพงเพราะเรียน รู้มาจากวัดก็ต้องตอบแทนคืนให้วัด สำหรับเก๊าไม้ฯ ซึ่งอยู่ที่นี่ ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยและตอบแทนให้ชุมชนด้วย
แนวคิดในการจัดการธุรกิจโดยใช้ความรู้เป็นพื้นฐานและยึดหลักความซื่อ สัตย์ไม่เอาเปรียบ ตกทอดมาจากรุ่นพ่อ-แม่ คือ ธวัช กับ ขนิษฐา ซึ่งใช้ความรู้ด้านวิชาการเกษตรที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สร้างธุรกิจขายเคมีภัณฑ์ จนเป็นที่รู้จักในท้องถิ่นอย่างกว้างขวางในจังหวัดเชียงใหม่ สู่รุ่นลูกคือ ขัตติรัตน์ ลูกสาว กับ จักร์ ลูกชาย ที่เข้ามาช่วยดูแลกิจการ
“เราชอบความคิดนี้ เพราะเห็นอยู่ว่ามีการเอาเปรียบนักท่องเที่ยวในหลายๆ ที่ ซึ่งเราไม่ต้องการ แต่เมื่อธุรกิจเราไม่เอาเปรียบลูกค้าและชาวบ้าน ชาวบ้านจะไม่เอาเปรียบคนอื่น เราใช้กับนักท่องเที่ยวและชุมชน เช่น โปสการ์ดที่วางอยู่ให้ลูกค้าหยอดเงินลงตู้โดยไม่ต้องมีคนเฝ้า เพื่อสร้างคอนเซ็ปต์ให้ซื่อสัตย์กับตัวเอง” ขัตติรัตน์ อธิบายถึงการนำหลักคิดมาใช้
สระว่ายน้ำ
กิจกรรมที่เดิมใช้ theme ความเป็นโรงบ่ม-ธรรมชาติ-วัฒนธรรม-ไลฟ์สไตล์ ซึ่งไปได้ดี กำลังจะทำต่อโดยใช้ theme ศิลปะ-วัฒนธรรม-เด็ก-วัด เพราะมีผลต่อการที่จะทำให้ชุมชนน่าอยู่หรือไม่ คนทางเหนือเชื่อพระและวัดเป็นศูนย์รวมหลายเรื่องทั้งศิลปะและวัฒนธรรม รวมทั้ง การพัฒนาจิตใจและคุณภาพชีวิต
ขณะที่เด็กเป็นอนาคต เช่น โครงการศิลปะเด็ก จากที่รู้แล้วว่าเด็กมองอย่างไรกับวัฒนธรรมที่อยู่ด้วยทุกวัน ต่อไปอยากรู้ว่าเด็กมองวัฒนธรรมในอนาคตอย่างไร จะคิดจัดการอย่างไร และเราจะเสริมให้แน่นขึ้นอย่างไร เพราะถ้าปล่อยไปเก๊าไม้ฯ อาจจะอยู่ไม่ได้ ถ้าชุมชนเปลี่ยนแปลงไปมีวัฒนธรรมใหม่เข้ามาแทรกซึมมาก จนกระทั่ง ความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชนเลือนหายไป
เก๊าไม้ล้านนากับการเป็น community based resort ความสำคัญอยู่ที่การบริหารจัดการให้กลไกทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในชุมชนขับ เคลื่อนไปได้อย่างสอดประสานกับกลไกภายนอกที่เชื่อมโยงให้ทุกส่วนกลายเป็น เครือข่ายที่อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
อ้างอิงจาก ผู้จัดการออนไลน์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประสบการณ์จริงคนขึ้นศาลคดี Easybuy

ประสบการณ์ไปศาลคดี บัตรเครดิต UOB

แนวทางรับมือเมื่อได้รับหมายศาลแบบบ้านๆ โดยคุณแก้วจ๋า ชมรมหนี้บัตรเครดิต