พรบ ทวงหนี้ กฎหมายใหม่เกี่ยวกับการทวงหนี้


ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๘


พระราชบัญญัติ การทวงถามหนี้ พ.ศ. ๒๕๕๘


มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศ
ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป



มาตรา ๘ ห้ามผู้ทวงถามหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้เพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่บุคคล ซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการดังกล่าว

การติดต่อกับบุคคลอื่นนอกจากบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้กระทําได้เพื่อวัตถุประสงค์ในการสอบถาม
หรือยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้เท่านั้น
โดยผู้ทวงถามหนี้ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

(๑) แจ้งให้ทราบชื่อตัว ชื่อสกุล และแสดงเจตนาว่าต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้
(๒) ห้ามแจ้งถึงความเป็นหนี้ของลูกหนี้ เว้นแต่ในกรณีที่บุคคลอื่นนั้นเป็นสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้สอบถามผู้ทวงถามหนี้ถึงสาเหตุของการติดต่อ ให้ผู้ทวงถามหนี้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ได้เท่าที่จําเป็นและตามความเหมาะสม
(๓) ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย ในหนังสือ หรือในสื่ออื่นใดที่ใช้ในการติดต่อสอบถาม ซึ่งทําให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อทวงถามหนี้ของลูกหนี้
(๔) ห้ามติดต่อหรือแสดงตนที่ทําให้เข้าใจผิดเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้



มาตรา ๙ การทวงถามหนี้ ให้ผู้ทวงถามหนี้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

(๑) สถานที่ติดต่อ ในกรณีที่ติดต่อโดยบุคคลหรือทางไปรษณีย์ ให้ติดต่อตามสถานที่ที่ลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ได้แจ้งให้เป็นสถานที่ติดต่อ ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวไม่ได้แจ้งไว้ล่วงหน้าหรือสถานที่ที่ได้แจ้งไว้ไม่สามารถติดต่อได้ โดยผู้ทวงถามหนี้ได้พยายามติดต่อตามสมควรแล้ว ให้ติดต่อตามภูมิลําเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทํางานของบุคคลดังกล่าว หรือสถานที่อื่น ตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนด
(๒) เวลาในการติดต่อ การติดต่อโดยบุคคล โทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ให้ติดต่อได้ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ นาฬิกา ถึงเวลา ๒๐.๐๐ นาฬิกา และในวันหยุดราชการ เวลา ๐๘.๐๐ นาฬิกา ถึงเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา หากไม่สามารถติดต่อตามเวลาดังกล่าวได้ หรือช่วงเวลาดังกล่าวไม่เหมาะสม ให้ติดต่อได้ในช่วงเวลาอื่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกําหนด
(๓) จํานวนครั้งที่ติดต่อ ในช่วงเวลาตาม (๒) ให้ติดต่อตามจํานวนครั้งที่เหมาะสมและคณะกรรมการอาจประกาศกําหนดจํานวนครั้งด้วยก็ได้
(๔) ในกรณีที่เป็นผู้รับมอบอํานาจจากเจ้าหนี้ ผู้รับมอบอํานาจช่วงในการทวงถามหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ หรือผู้รับมอบอํานาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ให้ผู้ทวงถามหนี้แจ้งให้ทราบถึงชื่อตัวและชื่อสกุล หรือชื่อหน่วยงานของตนและของเจ้าหนี้ และจํานวนหนี้ และถ้าผู้รับมอบอํานาจดังกล่าวทวงถามหนี้ต่อหน้า ให้แสดงหลักฐานการมอบอํานาจให้ทวงถามหนี้ด้วย



มาตรา ๑๐ ในกรณีที่ผู้ทวงถามหนี้ขอรับชําระหนี้ ผู้ทวงถามหนี้ต้องแสดงหลักฐานการรับมอบอํานาจให้รับชําระหนี้จากเจ้าหนี้ต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ด้วย และเมื่อลูกหนี้ได้ชําระหนี้แก่ผู้ทวงถามหนี้แล้ว ให้ผู้ทวงถามหนี้ออกหลักฐานการชําระหนี้แก่ลูกหนี้ด้วย หากลูกหนี้ได้ชําระหนี้แก่ผู้ทวงถามหนี้โดยสุจริต ให้ถือว่าเป็นการชําระหนี้แก่เจ้าหนี้โดยชอบ
ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ทวงถามหนี้จะได้รับมอบอํานาจให้รับชําระหนี้จากเจ้าหนี้หรือไม่ก็ตาม



มาตรา ๑๑ ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทําการทวงถามหนี้ในลักษณะดังต่อไปนี้

(๑) การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทําอื่นใดที่ทําให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือผู้อื่น
(๒) การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น
(๓) การแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา ๘ วรรคสอง (๒)
(๔) การติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เว้นแต่กรณีการบอกกล่าวบังคับจํานองด้วยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ ซึ่งเจ้าหนี้ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้โดยวิธีการอื่น หรือกรณีอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนด
(๕) การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย ในการติดต่อลูกหนี้ที่ทําให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้
(๖) การทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนด

ความใน (๕) มิให้นํามาใช้บังคับกับการทวงถามหนี้เป็นหนังสือเพื่อจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล



มาตรา ๑๒ ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทําการทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทําให้เกิดความเข้าใจผิดดังต่อไปนี้

(๑) การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทําให้เข้าใจว่าเป็นการกระทําของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ
(๒) การแสดงหรือมีข้อความที่ทําให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทําโดยทนายความ สํานักงานทนายความ หรือสํานักงานกฎหมาย
(๓) การแสดงหรือมีข้อความที่ทําให้เชื่อว่าจะถูกดําเนินคดี หรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์ หรือเงินเดือน
(๔) การติดต่อหรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดําเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิต หรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิต



มาตรา ๑๓ ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทําการทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมดังต่อไปนี้

(๑) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ เกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกําหนด
(๒) การเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชําระหนี้ได้



โทษอาญา


มาตรา ๓๙ บุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ วรรคหนึ่ง มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง มาตรา ๘ วรรคสอง (๒) หรือ (๓) มาตรา ๑๑ (๒) (๓) (๔) หรือ (๕) หรือมาตรา ๑๓ (๒) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกนหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ



มาตรา ๔๐ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒ (๒) (๓) หรือ (๔) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ



มาตรา ๔๑ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ (๑) หรือมาตรา ๑๒ (๑) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประสบการณ์จริงคนขึ้นศาลคดี Easybuy

ประสบการณ์ไปศาลคดี บัตรเครดิต UOB

แนวทางรับมือเมื่อได้รับหมายศาลแบบบ้านๆ โดยคุณแก้วจ๋า ชมรมหนี้บัตรเครดิต