ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับหน้าที่ของศาล


         เขียนโดย คุณนกกระจอกเทศ ประธานชมรมหนี้บัตรเครดิต


ถ้าจะว่ากันตามกฏหมายแล้ว หากมีหนี้ซึ่งกันและกัน แล้วเกิดการไม่ชดใช้หนี้กันขึ้น ฝ่ายที่เป็นเจ้าหนี้จะต้องไปฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง(หรือศาลคดีผู้บริโภคก็ตาม) เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดังกล่าวตามคำฟ้อง(คดีดำ)

โดยศาลท่านจะมีหน้าที่เพียงแค่พิพากษาว่า จำเลยจะต้องจ่ายหนี้คืนให้กับโจทก์หรือเจ้าหนี้ เป็นเงินเท่าใด? ดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมควรจะต้องเป็นเท่าไหร่? จึงจะเป็นธรรมตามกฏหมาย...เท่านั้น
ศาลจะไม่มีหน้าที่โดยตรงในการไกล่เกลี่ย หรือออกคำสั่งให้ผ่อนจ่ายหนี้ได้หรือไม่? ผ่อนเท่าไหร่? และผ่อนอย่างไร? เพราะอาจเสี่ยงต่อการถูกมองได้ว่า ศาลลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง...ดังนั้น ท่านจะไม่พิจารณาในเรื่องการผ่อนชำระ ด้วยตัวของท่านเองหรอกนะครับ ยกเว้นจำเลยกับทนายโจทก์จะตกลงกันได้เองต่อหน้าศาลหากลูกหนี้กับเจ้าหนี้(ทนายโจทก์)ตกลงกันเองได้ ศาลก็จะพิพากษาให้เป็นไปตามข้อตกลงดังกล่าว โดยกำหนดให้ต้องเขียนเป็นสัญญากันขึ้นมา โดยมีชื่อของสัญญาว่าสัญญาประนีประนอมยอมความ และให้ถือว่าสัญญาที่เซ็นต์กันฉบับนี้ เป็นคำพิพากษาของศาลโดยการยอมความของทั้งสองฝ่าย

และถ้าหากลูกหนี้ถูกศาลแพ่งพิพากษาแล้ว ก็ยังไม่ยอมใช้หนี้ตามคำพิพากษาอีก(หรือที่เรียกกันว่าดื้อแพ่งเพราะยังดื้อด้านต่อคำสั่งของศาลแพ่ง จึงเป็นที่มาของคำว่าดื้อแพ่งยังไงล่ะครับ) ที่นี้เจ้าหนี้ก็ต้องเอาคำพิพากษาของศาลที่พิพากษาไปแล้ว(คดีแดง) ไปยื่นต่อหน่วยงานราชการที่มีชื่อเรียกว่ากรมบังคับคดีเพื่อให้เข้าสู่กระบวนการ ยึดทรัพย์/อายัดเงินเดือน ตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ดังนั้น หากจำเลยที่ถูกฟ้องในคดีเรื่องหนี้เงินจะต้องมาตั้งคำถามกับตัวเองเสียก่อนว่า...จะไปศาลขึ้นเพื่ออะไร?

ารไปขึ้นศาล มีอยู่ 3 แนวทาง...ดังนี้


แนวทางที่ 1. ไปศาลเพื่อไปต่อสู้คดี เพื่อให้รู้ผล แพ้-ชนะ คดี กันไปข้างหนึ่ง ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ (จะสู้คดีว่าด้วยเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่เกินกว่ากฏหมายกำหนด หรือสู้คดีว่าด้วยเรื่องอายุความ...ก็แล้วแต่) ซึ่งแนวทางนี้ จะต้องเขียน คำให้การในการต่อสู้คดี โดยใช้แบบฟอร์มของศาลที่มีตราครุฑ๑๑(ก.) สำหรับคดีแพ่ง หรือแบบฟอร์ม ผบ.๓ สำหรับคดีผู้บริโภค โดยเขียนคำให้การต่อสู้คดีเป็นภาษากฏหมาย และต้องอ้างอิงมาตราต่างๆของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาประกอบลงในคำให้การด้วย ซึ่งถ้าเขียนเองไม่เป็น ก็ต้องจ้างทนายความให้ช่วยเขียนให้


สามารถ Download แบบฟอร์ม"คำให้การในการต่อสู้คดี"(คำให้การจำเลย) ได้จากใน Link นี้www.trachu.com/userfiles/download/%E0%B8%9C%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%A2.doc

ขอย้ำว่า...การต่อสู้คดีบนชั้นศาล จะต้องยื่นคำให้การด้วยทุกครั้ง ไม่สามารถสู้คดีด้วยปากเปล่าได้
หากจำเลยไม่เขียนคำให้การไปยื่นต่อศาล...ศาลจะถือว่าจำเลยมีเจตนาไม่ต้องการสู้คดีต่อให้จำเลยมีหลักฐานอันแน่นหนาว่า โจทก์โกง , โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดกฏหมาย , โจทก์ฉ้อฉล คดีขาดอายุความไปแล้ว...ฯลฯ ศาลท่านก็จะไม่พิจารณาตามหลักฐานดังกล่าวเลย เพราะถือว่า จำเลยไม่ยอมปฎิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนของศาล ดังนั้น คำพูดต่างๆของจำเลยในชั้นศาล ศาลจึงไม่ถือว่าเป็น"คำให้การ" แต่มันเป็นแค่เพียง"คำแก้ตัว"


เมื่อเป็นดังนี้...จำเลยอาจถูกศาลพิพากษา ให้ต้องชำระหนี้ตามที่โจทก์ฟ้องมาทันที เพราะศาลจะถือว่า จำเลยไม่ยอมปฎิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนของการสู้คดี ตามที่กฏหมายได้บัญญัติไว้


แนวทางที่ 2. ไปศาลเพื่อการไกล่เกลี่ย ประนีประนอมยอมความกับทนายโจทก์ เช่น ถูกหมายฟ้องให้ชดใช้หนี้เป็นจำนวนเงิน xx,xxx บาท แต่ฝ่ายจำเลยยังไม่มีเงินก้อนที่จะสามารถชำระหนี้ให้ได้ในตอนนี้ จึงขอไกล่เกลี่ยกับทนายโจทก์ว่า อยากจะขอผ่อนต่อนับจากนี้เป็นต้นไป ซึ่งเงื่อนไขที่จะสามารถตกลงกันได้บนชั้นศาลนี้ ทางฝ่ายโจทก์มักจะไม่ยอมให้ผ่อนต่อในระยะเวลายาวๆอีกต่อไป ส่วนมากก็จะบังคับให้ผ่อนให้หมดภายในระยะเวลา 1 ถึง 2 ปี (แต่บางรายอาจขอได้นานสูงสุดถึง 3 ปี) โดยในช่วงที่ผ่อนอยู่นี้ โจทก์อาจขอคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่ผ่อนนี้ด้วย ซึ่งก็ต้องมาพูดคุยตกลงกันอีกว่า จะยอมให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผ่อนที่เท่าไหร่? ก็จะมีตั้งแต่ 15% , 13% , 10%...หรือบางรายอาจขอได้ 0%(ไม่คิดดอกเบี้ยในระหว่างที่ผ่อน ก็มี) ทั้งนี้ก็แล้วแต่ฝีปากและเทคนิคในการเจรจาต่อรอง และขึ้นอยู่กับนโยบายของเจ้าหนี้ในแต่ละรายด้วย...เช่น ถ้าจำเลยสามารถผ่อนให้หมดได้ในภายระยะเวลาอันสั้น ไม่เกิน 6 เดือน ก็ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผ่อน(ดอกเบี้ย 0%)เป็้นต้น

แต่...ตัวเลขยอดหนี้ที่จะตกลงผ่อนกันใหม่นี้ จะเป็นตัวเลขตามที่โจทก์ยื่นฟ้องมาในหมายศาลแบบ"เต็มๆ" โดยแทบจะไม่มีส่วนลดอะไรให้กับลูกหนี้เลย (เรียกได้ว่า เขียนฟ้องมาเท่าไหร่ ก็เอาตัวเลขอันนั้นแหละ มาทำสัญญาผ่อนกันใหม่)

เมื่อได้ข้อตกลงอันเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่ายแล้ว ก็ทำการร่างสัญญาที่ตกลงกันเอาไว้ ลงในแบบฟอร์มสัญญาประนีประนอมยอมความ”(ตราครุฑ ๒๙) พร้อมกับเซ็นต์ลงนาม ชื่อโจทก์ , ชื่อจำเลย และชื่อของผู้พิพากษา(ในฐานะเป็นพยาน)



วิธีการนี้ เหมาะสำหรับลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้เพียงรายเดียวเท่านั้น...หรือ เหลือเจ้าหนี้แค่รายนี้เป็นรายสุดท้าย
เพราะถ้าหากลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายราย แล้วดันไปเซ็นต์สัญญา"ประนีประนอมยอมความ"ในชั้นศาล กับเจ้าหนี้หมดทุกราย แล้วจะมีปัญญาไปผ่อนจ่ายตามสัญญาหมดทุกฉบับไหวไหม?...มันก็เข้าอีหรอบเดิมเหมือนกับตอนที่ต้องผ่อนจ่ายหนี้ให้กับเจ้าหนี้ทุกราย ก่อนที่จะถูกฟ้องศาลนั่นแหละ...จริงไหม?

ดังนั้น ตัวของลูกหนี้เอง จะต้องมีความมั่นใจเป็นอย่างสูงว่า หากเซ็นต์ชื่อลงในสัญญาแล้ว จะต้องปฎิบัติให้ได้ตามข้อตกลงในสัญญา เพราะในสัญญาฉบับนี้ มีลายเซ็นต์ของผู้พิพากษาลงนามเป็นพยานด้วย หากลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายตามข้อตกลงได้ สัญญาประนีประนอมยอมความที่เซ็นต์ไปนี้ ก็จะถือว่าเป็นโมฆะและจะถูกย้อนให้กลับไปใช้ตัวเลขตามมูลหนี้ทั้งหมด ที่ยังคงเหลือค้างอยู่ตามในสัญญาทันที
*** คิดง่ายๆก็คือการเอา"ตัวเลขสูงสุด"ในหมายฟ้อง ลบด้วยจำนวนเงินต้นที่ได้เคยผ่อนไปบ้างแล้วตามสัญญาฉบับนี้(ถ้ามี) แล้วที่เหลือก็คือเงินหนี้ที่จะต้องจ่ายต่ออีก บวกด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี(ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา) โดยดอกเบี้ยจำนวนนี้ จะเดินต่อไปเรื่อยๆไม่มีหยุด จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น ไม่ว่าจะชำระด้วยวิธีการอย่างใดก็ตาม ***




ตัวอย่างของสัญญาในกรณีนี้ จำเลยขอผ่อนยอดหนี้ตามที่โจทก์ฟ้องมา(โดยไม่มีส่วนลดใดๆเลย)
โดยขอผ่อนเป็น 24 งวด(2ปี) และในระหว่างที่ผ่อนนี้ ทางโจทก์ไม่คิดดอกเบี้ยในระหว่างที่ผ่อน 2ปี ดังกล่าว (ดอกเบี้ย 0% ในระหว่างที่ผ่อน)
ยกเว้น...ถ้าจำเลยทำผิดจากเงื่อนไขในสัญญา(เช่น จ่ายล่าช้าไม่ตรงตามวันที่กำหนด หรือ จ่ายบ้าง-ไม่จ่ายบ้าง หรือจ่ายเงินค่าผ่อนน้้อยกว่าที่กำหนดเอาไว้ในสัญญา เพียงแค่งวดเดียวก็ตาม) ดอกเบี้ย 0% ที่ว่านี้ ก็เป็นอันโมฆะและยกเลิก และจะถูกปรับให้ไปใช้เป็นดอกเบี้ยใหม่ ในอัตรา 15% ต่อปี โดยคิดจากยอดของเงินต้นที่ยังคงค้างเหลืออยู่ทันที

อีกทั้ง ทางฝ่ายโจทก์ยังสามารถยื่นเรื่องตรงไปที่กรมบังคับคดีได้เลย โดยไม่ต้องฟ้องซ้ำอีกแล้ว และจำเลยก็ไม่สามารถอุทธรณ์ได้ด้วย เพราะถือว่าจำเลยได้กระทำผิดต่อสัญญาดังกล่าว ต่อศาลชั้นต้นไปแล้ว ซึ่งสัญญาฉบับนี้มีความหมายเทียบเท่ากับว่า โจทก์และจำเลยขอยินยันให้ศาลพิพากษาไปตามสัญญาการผ่อนชำระฉบับนี้ได้เลย โดยมีลายเซ็นต์ของทุกฝ่ายลงนามยืนยันไว้เป็นหลักฐาน

หรือพูดง่ายๆก็คือ การทำสัญญายอมความต่อหน้าศาลนั้น เทียบเท่าได้กับคำพิพากษาของศาลนั่นเอง แต่เป็นคำพิพากษาที่เกิดจาก การที่คู่ความทั้งสองฝ่าย ได้ตกลงพร้อมใจกัน เพื่อให้ศาลพิพากษาไปตามข้อตกลงที่ได้เซ็นต์ยอมความกันในไว้ในสัญญา

ดังนั้น...ถ้าหากลูกหนี้ทำการประเมินตัวเองแล้ว คาดว่าในภายภาคหน้าอาจจ่ายชำระตามข้อตกลงในสัญญาไม่ไหว ก็อย่าไปตกลงทำสัญญาดีกว่าครับ หันมาใช้วิธีการตามในแนวทางที่ 1. หรือแนวทางที่ 3. จะดีกว่า




แนวทางที่ 3. ไปศาลเพื่อร้องขอความเมตตากรุณาจากศาล(จำเลยสามารถพูดร้องขอด้วยปากเปล่าได้เลย ไม่ต้องเขียนแบบฟอร์มใดๆ) โดยการพูดขอให้ท่านช่วยตัดลดมูลหนี้บางอย่างลงมาให้บ้าง...เช่น ดอกเบี้ยที่ศาลพิพากษา , ค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมศาล และค่าทนายโจทก์ด้วย ซึ่งจะได้ลดมากหรือลดน้อย หรืออาจไม่ได้ลดเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเมตตาจากท่าน (ต้องไปวัดดวงเอาเอง) แต่สำหรับหนี้เงินต้นนั้น ศาลท่านไม่สามารถช่วยปรับลดให้ได้ (ตามข้อกฏหมาย)...ฉะนั้นอย่าไปขอท่านในส่วนนี้เป็นอันขาด แล้วหลังจากนั้น ก็ปล่อยให้ท่านพิพากษาไปเลย

สรุปก็คือ
ศาลแพ่งหรือศาลผู้บริโภค มีหน้าที่แค่พิจารณาหนี้ไปตาม คำร้อง/คำโต้แย้ง ของคู่ความเท่านั้น
โดยใช้ข้อกฏหมาย(มาตราต่างๆ)เป็นตัวพินิจพิเคราะห์
และเมื่อพิจารณาเสร็จแล้วก็จะออกเป็นคำสั่งพิพากษาเพื่อบังคับให้ใช้หนี้ระหว่างกัน โดยเสียดอกเบี้ยไม่เกินกว่าที่กฏหมายกำหนด (อาจเป็นร้อยละ 7.5 , 10 , 12 , 15 ต่อปี...แล้วแต่ศาลเป็นผู้พิจารณา)
และเมื่อศาลพิพากษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็หมดสิ้นหน้าที่ของศาล เรื่องต่างๆต่อจากนี้ ก็จะไม่เกี่ยวข้องกับศาลอีกต่อไปแล้ว จะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับการชดใช้หนี้ระหว่างโจทก์และจำเลย โดยอาจมีกรมบังคับคดีมามีส่วนเกี่ยวข้อง
ถ้าหากจำเลยไม่ยอมชดใช้หนี้ตามที่ศาลสั่ง หรือจำเลยทำผิดจากข้อตกลงที่ได้ไปเซ็นต์สัญญาไว้ต่อศาล โจทก์สามารถร้องขอให้ทำการ ยึดทรัพย์/อายัดเงินเดือน ของจำเลย...ตามที่โจทก์ไปยื่นคำร้องไว้ที่กรมบังคับคดีได้เลย




ข้อกฏหมายที่ต้องจำ

ศาลไม่มีหน้าที่ไปอายัดหรือยึดทรัพย์ใดๆของลูกหนี้

หน้าที่ในการอายัดหรือยึดทรัพย์ของจำเลย เป็นหน้าที่ของกรมบังคับคดีเท่านั้น...ผู้อื่นไม่มีสิทธิ์...แม้กระทั่งตัวของเจ้าหนี้เอง...ก็ไม่มีสิทธิ์

โดยกระบวนการอายัดหรือยึดทรัพย์ดังกล่าว จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ
ต้องจบสิ้นคดีในการฟ้องร้องต่อศาลแล้ว โดยศาลได้มีคำสั่งให้ลูกหนี้ต้องจ่ายหนี้ ตามคำพิพากษาที่ศาลสั่ง

หากลูกหนี้ยังคงเพิกเฉย ไม่ยอมปฎิบัติตามคำพิพากษาของศาลอีก (ลูกหนี้"ดื้อแพ่ง")
เจ้าหนี้ก็จะเอาคำพิพากษาของศาลในคดีดังกล่าว ไปยื่นคำร้องต่อ"กรมบังคับคดี"
เพื่อให้ทางกรมบังคับคดีเป็นผู้ออกคำสั่ง ยึด/อายัด (หมายบังคับคดี) 

โดยเจ้าหน้าที่บังคับคดีจะเป็นผู้ดำเนินการ ในการยึดทรัพย์หรืออายัดเงินเดือนของลูกหนี้ (ซึ่งเจ้าหนี้อาจยื่นคำร้อง ขอให้ทำการยึดทรัพย์และอายัดเงินเดือน พร้อมๆกันเลยก็ได้) เพื่อนำมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลต่อไป




ดังนั้น...การที่ไอ้พวกทวงหนี้ชอบอ้างว่า หากลูกหนี้ไม่ยอมจ่ายหนี้ที่ค้างชำระอยู่

เจ้าหนี้มีสิทธิ์มาอายัดหรือยึดทรัพย์ใดๆของลูกหนี้ได้เลย

โดยไม่จำเป็นต้องฟ้องต่อศาล

และไม่ต้องทำเรื่องไปยังกรมบังคับคดี นั้น

จึงเป็นคำพูดที่โกหกตอแหลโดยสิ้นเชิง









ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประสบการณ์จริงคนขึ้นศาลคดี Easybuy

แนวทางรับมือเมื่อได้รับหมายศาลแบบบ้านๆ โดยคุณแก้วจ๋า ชมรมหนี้บัตรเครดิต

หมายศาลจะถุกส่งไปที่ไหน