» กรณีศึกษา : จากหนี้บัตรเครดิต 14 ใบ สู่จุดเปลี่ยนชีวิต...จนผ่านพ้นมรสุม

» กรณีศึกษา : จากหนี้บัตรเครดิต 14 ใบ สู่จุดเปลี่ยนชีวิต...จนผ่านพ้นมรสุม

โทรศัพท์รุ่นใหม่...ผลิตภัณฑ์หน้าใสเสริมความงาม...กระเป๋ารองเท้าตาม แฟชั่น...เสื้อผ้าแบรนด์ดังขึ้นป้ายลดราคา และสารพันสินค้าที่โลกโฆษณากระหน่ำเชิญชวนให้อยากเป็นเจ้าของ

...คือ `หลุมพราง´ ที่สาว ๆ ยุคใหม่หลายคนยินยอมพร้อมใจก้าวเข้าไปเป็นเหยื่อ

แต่เมื่อเงินที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะครอบครองสิ่งของนอกกายเหล่า นั้น..."บัตรเครดิต" สารพัดเจ้า ก็เลยกลายเป็นเพื่อนยามยากให้เราได้พึ่งพายามต้องการใช้เงินในอนาคต

และ "จินตนา เอกสุข" เธอผู้นี้ก็คือหนึ่งในทาสของบัตรรูดปรื๊ด

::::::::::::::::::


• เป็นเศรษฐีนี...ด้วยบัตรสิบสี่ใบ!

สินค้าเสริมภาพลักษณ์ให้ดูดีจำนวนมากถูกซื้อด้วยบัตรเครดิต 14 ใบ ที่เซ็นชื่อ "จินตนา เอกสุข" มนุษย์เงินเดือนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ที่ทุกเย็นหลังเลิกงานมีกิจวัตรคือการเดินช้อปปิ้งในห้างดัง และทานอาหารร้านหรูมีระดับ

เธอบอกว่า เมื่อ 8 ปีก่อน เธอใช้เงินอย่างไร้สติมาก ทำบัตรเครดิตหลายสิบบริษัท ตามค่านิยมผิด ๆ ที่เธอคิดไปเองว่า การได้ไปอยู่ในสังคมดี ๆ กินอาหารแพง ๆ ร้านหรู ๆ ทำให้เธอดูดีขึ้นในกลุ่มเพื่อนฝูง

จึงไม่แปลกที่ความสุขในเวลานั้นของเธอ คือการได้ซื้อของแพง ๆ มาอวดเพื่อน แต่นั่นกลับเป็นความหลงในสิ่งที่เป็นภาพลวงตา

::::::::::::::::::


• ความจริง!

ชีวิตราวกับเศรษฐีนีในโลกความฝันของ "จินตนา" ดำเนินไปได้เกือบ 2 ปี กระทั่งเธอได้ตื่นขึ้นมาพบกับความจริงที่ว่า...

วงเงินจากบัตรเครดิต 14 ใบของเธอเต็มทุกใบ และเธอมีหนี้บัตรเครดิตรวมกว่า 3 แสนบาท ยังไม่นับรวมดอกเบี้ยอีกหลายเท่าตัว

เมื่อคิดคำนวณดูแล้ว เดือน ๆ หนึ่ง สาวออฟฟิศคนนี้ ต้องจ่ายหนี้เกือบ ๆ 3 หมื่นบาท

รอยยิ้มกว้าง ๆ ของมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งที่มีความสุขจากการใช้ของแพง ๆ เริ่มเลือนหาย แปรเปลี่ยนเป็นความเครียด และความทุกข์ ของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีเงินเดือนเพียงหมื่นต้น ๆ

กำลังนั่งกุมขมับว่า จะหาเงินที่ไหนมาใช้หนี้ที่ถูกโทรจิกโทรทวงทุกวันถึงที่ทำงาน จนอายแทบแทรกแผ่นดินหนี แถมยังมีค่าผ่อนรถ ค่าห้อง ค่ากิน ค่าใช้จ่ายจิปาถะอีก


::::::::::::::::::


• ทางออก

แต่แล้ววันหนึ่ง "จินตนา" ก็สามารถหาทางออกให้กับตัวเองได้ เมื่อเดินไปเห็นผู้คนละลานตาที่ตลาดกลางคืนย่านราชประสงค์

แม้ในใจลึก ๆ จะเสียใจที่ตัวเองไม่สามารถมาจับจ่ายเหมือนคนอื่น ๆ ได้แล้ว แต่เธอก็ฉุกคิดได้ว่า ตัวเองน่าจะมาขายของตรงนี้ได้บ้าง

ในที่สุด เธอก็กลับบ้าน เปิดตู้เสื้อผ้า กวาดเอาเสื้อผ้าหรู ๆ รองเท้าราคาแพง ๆ และกระเป๋าแบรนด์เนม ลงถุง ขนมาขายในตอนเย็นหลังเลิกงาน

จากสาวออฟฟิศใช้ของไฮโซต้องเปลี่ยนเครื่องแบบพนักงานมาใส่เสื้อยืด กางเกงยีน คีบรองเท้าแตะ แปลงโฉมเป็นแม่ค้าในช่วงเย็น

เป็นชีวิตใหม่ที่ "จินตนา" ไม่เคยสัมผัส เธอยอมรับว่า.. ลำบากไม่ใช่น้อยกับการแบกถุงใบโต นั่งคุกเข่าขายของเป็นเวลานานจนเข่าด้าน ต้องคอยหลบหน้าคนรู้จักที่เดินผ่าน

และยังต้องรีบตื่นมาถึงที่ทำงานให้เช้ากว่าใคร ๆ เพื่อจะได้ไม่มีใครเห็นเธอแบกถุงขนของมาขายมาซ่อนไว้

ตกเย็นก็ต้องกลับบ้านช้า เพื่อรอให้เพื่อนทยอยกลับไปให้หมดก่อน จึงจะกล้าขนถุงใบโตที่ซ่อนไว้ออกมา

::::::::::::::::::


• หัวใจ

แม้ว่าชีวิตซีกที่เคยสุขสบายจะต้องสูญเสีย แต่สิ่งหนึ่งที่ "จินตนา" ยังคงเก็บไว้ นั่นคือ หัวใจที่เข้มแข็ง

ไม่ใช่ว่าไม่ร้องไห้ แต่หมายถึงจะไม่ยอมล้ม ไม่ยอมแพ้ และไม่ยอมให้ปัญหาการเงินมาชักนำให้เธอทำอะไรที่ผิดหรือโง่เขลา

บ่อยครั้งที่เธอต้องไปทำงานที่ต่างจังหวัด และเป็นคนถือเงินของบริษัทเป็นหมื่น ๆ แต่เธอก็ไม่เคยคิดจะฉกฉวยเงินมาเป็นของตัวเอง

เพราะถือคติที่ว่า เกิดเป็นคนต้องซื่อสัตย์ และไม่เฝ้าโทษอดีตที่ผ่านไปแล้ว

"เหนื่อยมันมี ท้อมันมี แต่เราจะไม่ตัดพ้อต่อโชคชะตา ไม่มานั่งคิดว่าทำไมเรื่องแบบนี้ต้องเกิดกับฉัน แต่จะบอกตัวเองเสมอว่า แกทำตัวแกเอง จะไม่โทษอดีต

คิดอย่างเดียวว่า เราจะผ่านจุดนี้ไปให้ได้ เราต้องรอดให้ได้ แล้วสิ่งนี้ก็จะเป็นบทพิสูจน์หัวใจเราเอง" จินตนา บอกกับตัวเองอย่างเข้าใจ

::::::::::::::::::


• ลมปาก

อย่างไรก็ตาม "จินตนา" ก็เคยได้ยินได้ฟังคนนินทามาเข้าหูว่า เธออุตส่าห์เรียนจบถึงเมืองนอก ทำไมมานั่งขายของติดดินเช่นนี้ ดูไม่มีเกียรติเอาเสียเลย

แต่ "จินตนา" ก็ทำได้แค่รับฟังไว้ ไม่ปล่อยให้คำพูดเหล่านั้นมาลดทอนคุณค่าในตัวเอง และใช้วิธี "การยอมรับความจริง" เมื่อยอมรับตัวเองได้ คำพูดคนอื่นก็ไม่สามารถทำร้ายจิตใจเธอได้อีกต่อไป

ขณะเดียวกัน เธอก็แย้งอยู่ในใจว่า... จากการที่ได้ลงไปสัมผัสชีวิตพ่อค้าแม่ค้าบนฟุตปาธ ทำให้เธอรู้ว่า จริง ๆ แล้วพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้ล้วนมีน้ำใจ ไม่เคยดูถูกใคร

มีจรรยาบรรณที่จะไม่ขายตัดราคาเพื่อนผู้ค้าด้วยกัน

พวกเขาจึงดูมีเกียรติกว่าคนที่ใส่สูทผูกเนคไทหลายคนเสียอีก

::::::::::::::::::


• คำแนะนำจากคนไร้ปริญญา

นอกจากนี้ เธอยังได้เรียนรู้หลาย ๆ อย่างจากคนเหล่านี้ที่ห้องเรียนปริญญาไม่เคยสอนด้วย เช่น...

มีช่วงหนึ่งเธอขายของได้กำไรแค่ 40-50 บาท จนเริ่มท้อ

เพื่อนแม่ค้าจึงแนะนำให้กล้าลงทุน ไปซื้อของอย่างอื่นมา เมื่อเธอทำตาม เธอก็สามารถขายจนได้กำไรนับพัน

เพื่อนจึงแนะนำให้เธอหาร้านขายส่งที่ราคาถูกกว่าจะได้มีกำไรมากขึ้น

เรื่องนี้ทำให้ "จินตนา" อายตัวเองอยู่ในใจว่า ทั้งที่เธอเรียนจบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ แม้แต่มินิเอ็มบีเอ การตลาด ก็ผ่านมาแล้ว แต่เรื่องง่าย ๆ แค่นี้กลับคิดไม่ได้

แถมเพื่อนแม่ค้าของเธอยังสอนให้เธอรู้จักออมเงิน

"มีครั้งหนึ่งเคยถามเพื่อนข้างแผงว่า ไม่คิดทำงานประจำเหรอ มีสวัสดิการ มีประกันสังคม จะได้มั่นคง เขาก็บอกไม่เห็นต้องทำงานประจำเลย แค่จัดสรรการใช้จ่ายให้เป็นก็พอแล้ว อย่าลืมทำประกันชีวิตไว้ เจ็บป่วยก็เบิกได้

แล้ววิธีการเก็บเงินเขาจะมี 3 กล่อง กล่องแรกเป็นต้นทุนไว้หมุนต่อ กล่องที่สองเก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายประจำวัน กล่องสุดท้ายเก็บออม

เนี่ย...เขาไม่ได้เรียนหนังสือเยอะนะ แต่เขาคิดได้มากกว่าคนปริญญา 2 ใบอย่างเราอีก" จินตนา เล่าอย่างทึ่ง ๆ

::::::::::::::::::


• เหมือนสวรรค์มีตา

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป 3 ปี

"จินตนา" สามารถปลดปลดหนี้บัตรเครดิตไปได้เพียง 2-3 ใบเท่านั้น

ความเครียดจึงเริ่มก่อตัวขึ้นอีกครั้ง แม้ในใจจะยังไม่ท้อ แต่ก็มีเพื่อนรุ่นพี่ในที่ทำงานคนหนึ่งมองเห็น และเข้ามาช่วยเหลือปิดบัตรเครดิตให้ แล้วให้เธอผ่อนส่งเขาแทน

"เคยถามเขาตรง ๆ นะ ว่าทำไมถึงมาช่วยเรา เขาก็บอกว่า เห็นความพยายามของเราว่าเป็นคนทำมาหากิน ถ้าใช้หนี้เองก็ไม่รู้จะหมดเมื่อไหร่

เหมือนสวรรค์มีตาเลยนะ พอเราสู้เต็มที่จนถึงจุดจุดหนึ่ง ก็จะมีคนมองเห็น แล้วยื่นมือมาช่วยเราทั้ง ๆ ที่เรากับเขาก็ไม่ได้สนิทกันเลย"

...นี่คือสิ่งที่ทำให้จินตนาแปลกใจในช่วงนั้น

แม้หนี้บัตรเครดิตจะหมดไป แต่ "จินตนา" ก็ยังคงไปขายของทุกเย็น และทุกเสาร์-อาทิตย์ เช่นเดิม เพื่อหาเงินมาชำระหนี้ให้พี่ที่ทำงาน

สุดท้าย...ภายในเวลาเพียงอีกปีเศษ เธอก็หลุดพ้นจากหนี้สินทั้งหมด

แต่ "จินตนา" ก็ยังคงขายของเก็บเงินไปเรื่อย ๆ กระทั่งมีเงินส่งตัวเองเรียนต่อปริญญาโทใบที่ 2 และจากนั้น เธอก็หยุดขายของ เพื่อทุ่มเทให้กับการเรียนอย่างจริงจัง

::::::::::::::::::


• คุณค่าที่แท้จริงแห่งชีวิต

เมื่อเรียนจบ... "จินตนา" ได้ย้ายไปทำงานเป็นผู้จัดการร้านอาหารและโรงแรมที่จังหวัดราชบุรีแทน

ต่อมาก็ได้ย้ายไปเป็นผู้จัดการรีสอร์ทแห่งหนึ่งในจังหวัดลพบุรี เพื่อจะได้ใกล้ชิดบ้านเกิด และมีเวลากลับไปดูแลพ่อแม่มากขึ้น

ทุกวันนี้ ผู้จัดการรีสอร์ทอย่าง "จินตนา" ดำเนินชีวิตด้วยความเรียบง่าย ใส่เสื้อผ้าธรรมดา ขับรถมือสอง

เธอเป็นผู้จัดการที่ยกมือไหว้คนสวนและคนขับรถก่อน ซ้ำลงไปช่วยลูกน้องขุดดิน

นอกจากนี้ เธอยังเป็นผู้จัดการที่ไม่ได้ดูแลเพียงธุรกิจ แต่ดูแลไปถึงชีวิตของพนักงาน บ้านใครเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไร "จินตนา" จะเข้าไปถามไถ่ แก้ปัญหา

อย่างเช่นโครงการรถรับส่งพนักงานกะบ่าย ที่เธอเป็นคนคิดขึ้น เพื่อช่วยให้ลูกน้องมีความปลอดภัยมากขึ้นเมื่อต้องกลับบ้านที่เปลี่ยว ๆ ในช่วงกลางดึก

แม้กระทั่งเรื่องการศึกษา "จินตนา" ก็ช่วยประสานงานกับวิทยาลัยเทคนิคให้พนักงาน 3 คนที่เรียนจบเพียงแค่ ม.3 แล้วดูมีแววน่าจะเรียนได้ ได้เรียนต่อจนจบ ปวส. และได้ปรับเพิ่มเงินเดือน

เธอมองว่า นี่เป็นคุณค่าที่แท้จริงแห่งชีวิตที่ควรภาคภูมิใจ

::::::::::::::::::


• บทสรุป

"ถ้าไม่เป็นหนี้ เราคงไม่คิดเรื่องพวกนี้ คงจะคิดแต่เรื่องตัวเอง ยึดมั่นถือมั่น ตัวตนสูง เช่น นี่ฉันผู้จัดการนะ แต่การเป็นหนี้ทำให้เรามองชีวิตในมุมใหม่

ที่สำคัญคือ...ทำให้กลับมาดูแลเอาใจใส่พ่อแม่ เพราะเมื่อก่อนเงินเดือนเราไม่เคยถึงพ่อแม่เลย

แต่ทุกวันนี้เราจะแบ่งเงินเดือนส่วนหนึ่งส่งไปให้พ่อแม่ ว่างเมื่อไหร่ก็จะขับรถไปเยี่ยมไปดูแล" จินตนา บอกอย่างภูมิใจ

เธอย้ำด้วยว่า "หนี้" สามารถเปลี่ยนชีวิตเธอได้ดีขึ้นถึงทุกวันนี้ ช่วยให้มองทะลุปรุโปร่งในหลาย ๆ เรื่อง

เพราะความทุกข์ครั้งนั้น ทำให้เธอเข้าใจคนมากขึ้น มองว่าทุกคนมีฉากชีวิต มีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบอยู่เบื้องหลัง

เมื่อผ่านพ้นมรสุมลูกใหญ่มา ฟ้าอันสดใส ก็ทำให้ "จินตนา" พบกับความสุขอย่างแท้จริง


"สิ่งที่ทำให้ภูมิใจมากที่สุดในวันนี้ หนึ่งคือได้ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ สองคือการได้ช่วยเหลือผู้อื่น และมองอะไรแบบเข้าใจมากขึ้น

แล้วก็ค้นพบว่า เออ... ชีวิตแบบนี้มันมีความสุข มีความสุขกว่าสมัยเดินช้อปปิ้งเมื่อก่อน ตอนนั้นมันเป็นแค่ความสุขแบบฉาบฉวย ลุ่มหลง

แต่ความสุขตอนนี้ มันแท้จริงสัมผัสได้" จินตนา ย้ำ ก่อนจะปิดท้ายว่า

"คุณค่าแท้จริงของชีวิต คือการอยู่ให้มีประโยชน์กับคนอื่น ไม่เบียดเบียนเขา แล้วก็ต้องไม่เบียดเบียนตัวเองด้วย"


:::::::::::::::


Credit : นิตยสาร ฅ.คน ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 (85) ธันวาคม 2555 - เรียบเรียงโดย กระปุกดอทคอม



#Life101Page #หนี้บัตรเครดิต #นิตยสารฅคน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประสบการณ์จริงคนขึ้นศาลคดี Easybuy

แนวทางรับมือเมื่อได้รับหมายศาลแบบบ้านๆ โดยคุณแก้วจ๋า ชมรมหนี้บัตรเครดิต

หมายศาลจะถุกส่งไปที่ไหน