หกเหตุผล ทำไมเราไม่ควร"เล่นหุ้น"ด้วยตัวเอง. (เขียนวันหุ้นแกว่ง...13กย.2556) by คุณ Banyong Pongpanich
- รับลิงก์
- X
- อีเมล
- แอปอื่นๆ
หกเหตุผล
ทำไมเราไม่ควร"เล่นหุ้น"ด้วยตัวเอง. (เขียนวันหุ้นแกว่ง...13กย.2556)
เมื่อวานผมเขียนเล่าประสพการณ์โง่ๆในอดีตของตัวเองเกี่ยวกับตลาดหุ้น
ตอนเริ่มเขียนหลังข้าวเที่ยง ตลาดยังบวกสี่ห้าจุด เลยวงเล็บไว้ว่า
เขียนเมื่อวันหุ้นขึ้น บ่ายติดประชุม มาเขียนต่อตอนเย็น
ไม่ได้ดูว่าตลาดปิดยังไง(ก็ไม่ได้เล่นหุ้นนี่ครับ)
เช้าขึ้นมาถึงได้เห็นว่าติดลบกว่า สิบสามจุด
เกือบหนึ่งเปอร์เซ็น(เปอร์เซ็นละแสนล้านบาทเศษ) เห็นมะครับ
...ฝีมือพยากรณ์...แค่สามชั่วโมงยังใบ้ผิด แล้วดันเคยริอ่านอยากจะเป็นเซียน
น่าหัวร่อนัก (วันนี้เริ่มเขียนเช้า เลยบอกว่าหุ้นจะแกว่ง
น่าจะถูก...ถ้าไปทางเดียว...ผิดอีก จะเลิกเขียนเรื่องหุ้นซักเดือน)
ผมบอกไปแล้วว่า ในตลาดที่พัฒนาแล้ว
คนส่วนใหญ่จะลงทุนผ่านกลไกการจัดการลงทุนมืออาชีพ
ไม่เข้ามาซื้อขายหุ้นโดยตรง กลไกพวกนี้ได้แก่ กลุ่มที่เป็นcaptive เช่น
Pension Funds, Provident Fundsไปถึงพวกสมัครใจ เช่น Mutual Funds,
Insurances, Hedge Funds และกลุ่มอื่นๆ เช่น Endowment Funds ของมหาลัย
มูลนิธิต่างๆ มีสินทรัพย์รวมกันมากกว่า US$ 80 ล้านล้าน เท่ากับ
2,500ล้านล้านบาท มากกว่า GDP ประเทศไทยประมาณ 250 เท่า เค้าว่าเงินก้อนนี้
ซื้อโลกได้สองโลก (มีคนบอกว่าประเทศไทยซื้อได้ด้วยเงินแค่5,000
ล้านบาทเองผ่านระบบเลือกตั้ง
เสร็จแล้วจะทำอะไรก็ได้...แล้วแม่งจะโกงทำไมตั้งหลายหมื่นหลายแสนล้านวะ
แล้วอ้างว่าเพื่อจะได้โอกาสเข้าไปรับใช้ชาติประชาชน...อ้าวไอ้เตา
ไถลอีกและ...กลับมาตลาดหุ้นเดี๋ยวนี้)
ผมขอแยกแยะเหตุผล
ว่าทำไมเค้าถึงไม่เล่นหุ้นเอง ฝรั่งมันโง่ ไม่ได้เรียนเลข
ไม่รู้จักเส้นกราฟ แนวกระเด้งแนวกระดอน กันหรืออย่างไร
หรือที่เรียกเพราะๆว่า Financial Literacy ช่างตำ่ต้อย ไปร้านหนังสือ
ก็ไม่เห็นมีหนังสือประเภท"รวยลัดด้วยหุ้น" "พันล้านในพริบตา จากตลาดหุ้น"
"เรียนรู้เรื่องลงทุน กับมหาปรามาจารย์VI" และฯลฯ อีกหลายสิบหลายร้อยเล่ม
วางขายจนเต็มแผง เหมือนประเทศไทยแดนสารขัณฑ์
เรียนจบก็ซื้อหามาอ่านสักสองเล่ม จะไปเหนื่อยยากทำงานเป็นลูกน้องเขาทำไม
โดดลงสนามตลาดหุ้นเลยดีก่า เอาเงินพ่อเงินแม่ แถมกู้เพิ่ม ถ้าพลาดพลั้ง
เค้าก็มีคอร์สเข้าเรียนไม่กี่หมื่นเรียนรู้กราฟชาร์ต
ไม่กี่ครั้ง(ก็มันไม่มีสาระอะไรให้สอนนานได้นี่ครับ) แถมตั้งแต่เด็กๆ
เค้าก็มีการจัดฝึก จัดแข่งเรื่องการเล่นหุ้น
มีรางวัลใหญ่โตเป็นเกียรติเป็นศรี จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยบ้าง
ธนาคารบ้าง บล.บลจ.บ้าง โปรโมทกันขนาดนี้ แล้วจะให้มาเชื่อไอ้เตา ไอ้แกะดำ
ไอ้บ้าฝรั่ง ได้อย่างไร
วกวนทะเลาะกับคนเค้าทั่วแล้ว ผมขอเข้าเนื้อเรื่องหกเหตุผลกันเลยดีก่า
เหตุผลแรก. เป็นเรื่องของ"Economy of
Scale"เป็นเรื่องของการประหยัดโดยขนาด การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า
ให้ถูกที่ถูกทาง ลองนึกดูถ้าแต่ละคน มีคนละสิบล้านร้อยล้าน มานั่งลงทุนเอง
วันละสิบชั่วโมง(นี่ถ้าseriousะครับ) หรือถ้าสมัครเล่นก็ต้องวันละ
สามสี่ชั่วโมง เป็นอย่างน้อย(ถ้าให้น้อยกว่านั้น เลิกเถอะครับ
น่าจะเจ๊งแน่) แถมถ้าทำงานอื่นอยู่ด้วยก็เสียการเสียงาน
ด้อยประสิทธิภาพไม่เจริญทั้งตัวเรา ทั้งนายจ้าง กองทุนไทย ขนาดห้าหมื่นล้าน
พวกasset management เค้าใช้คนแค่ยี่สิบคนก็เหลือเฟือ(ต่างชาติใช้สี่คน)
ทำวันละสิบชั่วโมงก็แค่สองร้อยชั่วโมงต่อวัน
ถ้าลงเองคนละร้อยล้าน(มีไม่กี่คนที่มีถึงด้วยซำ้)
แม้วันละแค่สี่ชั่วโมงต่อคน ยังต้องใช้ถึงวันละสองพันชั่วโมง
ประหยัดเห็นๆตั้งสิบเท่า
(อย่าลืมว่า"เวลา"เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของมนุษย์นะครับ)
เหตุผลที่สอง "เรื่องความกว้าง" ท่านรู้ไม๊ครับ ในโลกมีหุ้นที่เป็น
investment grade อยู่กว่า 30,000หุ้น แล้วคุณจะไปคัด ไปเลือกเองได้อย่างไร
asset management เค้ามีระบบคัดกรอง จัดหมวดหมู่ให้เราได้เลือก
ได้เฟ้นเอาตามถนัด พวกเราคนไทยเกิดมาซวย เพราะมี capital control
เค้าบังคับให้เลือกแค่ 70 หุ้น (แหะๆ ผมนับเฉพาะ investment grade
ที่ภัทรมีวิจัยน่ะครับ ที่เหลืออีกห้าร้อยกว่าหุ้นไม่นับ
นี่เป็นเหตุผลที่ผมยังไม่ขวางที่ลูกค้าจะซื้อหุ้นตรงบ้าง
เพราะเลือกจากเจ็ดสิบเอง) แต่เชื่อเถอะครับ
อีกไม่นานเราจะลงทุนได้ทั่วโลกจริงๆ(ทุกวันก็ลงได้บ้างแล้ว
แม้ยังไม่สะดวกกับต้นทุนสูง) เมื่อนั้น ท่านจะเลือกหุ้นยังไงล่ะครับ
อย่างเก่งก็รู้จักแต่ที่ดังๆไม่กี่ตัว เช่น Apples, IBM, Citibank,
Facebook, GE เชื่อไหมครับ ชื่อดังๆเหล่านี้ ทุกตัวเคยตกกว่า 30%
ในเวลาสั้นๆมาแล้วทั้งหมด
ข้อสาม เป็น"เรื่องความเก่ง"
พวกที่ทำงานอยู่ใน asset management เค้าคัดเลือก ฝึกหัดมาอย่างดี
มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ทดสอบประสบการณ์มายาวนาน แต่ละคนเรียนจบสูงๆ
ยูชั้นยอด ใครถนัดวิจัยทำวิจัย ถนัดกลยุทธตัดสินใจก็แบ่งกันไปเป็นระบบ
เราจะไปสู้เขาได้อย่างไร อย่างผมถึงจะทำงานตลาดหุ้นมาสามโหลปี
ถ้าไปแนะนำเค้าว่าให้ซื้อโน่นขายนี่ เค้าก็จะมองหน้า แล้วบอก"พี่ ไปไกลๆเลย
กลับเข้าห้องไปเขียนfbได้เลย อย่ามาเกะกะให้รกลูกหูลูกตา รบกวนสมอง"
เหมือนแข่งกีฬาแหละครับ ตีกอล์ฟเป็นนิดหน่อย ดันไปท้าธงชัย ใจดีเล่น
แถมไปพนันกับอีอีก จะเหลือหรือครับ
ข้อสี่
เป็นเรื่องของ"ข้อมูลข่าวสาร" เป็นปัญหาโลกแตกเสมอมา
ที่ถึงแม้จะมีกฎว่าต้อง"ให้ข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน"ทุกตลาด ทุกแห่ง แต่
Asymmetry of Information ก็มีอยู่และยอมรับทั่วไป
อย่างที่บอกทุกคนต้องแย่งชิงเงินทุนก้อนใหญ่เสมอ ผมชอบยกตัวอย่างสมมุติ
ว่าถ้าเป็นกองทุนขนาดใหญ่ เช่น Capital, Fidelity, Aberdeen, Genesis,
Templeton, AIA ฯลฯ (ต้องขอโทษถ้าตกหล่นลูกค้าสำคัญรายไหนนะครับ)
ซึ่งพวกนี้ทุกรายมีเงินลงทุนในตลาดหุ้นไทยเกิน แสนล้านบาทต่อรายทั้งนั้น
สมมุติว่ารายหนึ่งเค้าไม่มีPTT มาพักหนึ่ง วันหนึ่งโทรมาที่ภัทร หาRM
แล้ว"สั่ง"ว่า "อั๊ว สนใจPTT ขอให้นักวิเคราะห์ที่เอ็งชอบคุยว่าเก่ง
ว่ามือรางวัล โทรหาอั๊วในครึ่งชั่วโมงหน่อย" เชื่อไหมครับ หมอนั่น
จะพักร้อน นอนป่วย
ถ้ายังพูดได้ก็ต้องรายงานตัวด่วนกับพ่อเจ้าประคุณแสนล้านนั่น
เสร็จแล้วท่านก็ให้คำถามยาวเหยียด ทุกมุมทุกด้าน ลึกซึ้งครบถ้วน
อะไรตอบได้ก็ตอบ ยังไม่ได้ก็ทำการบ้านส่งพรุ่งนี้
"ห้ามเกินเก้าโมงเช้านะ"ท่านสำทับ (คืนนี้อดนอนอีกแล้วกู) วางหูเสร็จ
ท่านก็โทรไปไล่บี้เอาจาก CSFBกับ UBS สองbrokerระดับโลกต่อ
พอวันรุ่งขึ้น ท่านรับการบ้านหายไปวันหนึ่ง อีกวันโทรมาอีกและ"เฮ้ย
ไอ้PTTนี่ หลายอย่างที่ทำเป็นเรื่อง global commodity เช่น E&P ,
Petrochem พวกlocal analyst อาจรู้ไม่พอ ให้ Top Analystของโลกของ BoAML
พาร์ตเนอร์ลื้อ ติดต่อมาหน่อย" แล้วก็วนไปอีกสองแห่ง เท่านั้นยังไม่พอ
อีกสามวันท่านโทรมาอีก"เออ นี่เราชักสนใจ แต่ว่าดร.ไพรินทร์ CEO
กับคุณสุรงค์ CFO นี่ยังไม่เคยเจอเลย เมื่อก่อนคุณประเสริฐ กับคุณพิชัย
แวะมาหาทุกปี" (ที่เค้าเรียกว่า Non-deal Roadshow
ที่ผู้บริหารบริษัทยักษ์ๆทั้งหลาย
ต้องตระเวนรอบโลกไปเยี่ยมท่านพ่อเจ้าประคุณทั้งหลายถึงoffice
ให้ท่านซักถามโขกสับจนกว่าจะพอใจน่ะครับ) "อาทิตย์หน้า เราพอจะว่าง
จะแวะไปกรุงเทพ่ฯช่วยนัดท่านทั้งสองหน่อย แล้วช่วยเช็คด้วยว่าท่านรมต. คลัง
กับท่านผู้ว่าแบงค์ชาติว่างไหม อยากเข้าไปซักถามเรื่องทั่วไปด้วยเลย"
เชื่อไหมครับนัดได้เกือบทุกครั้ง
ผมยังเคยพานักลงทุนใหญ่ๆเข้าพบท่านนายกฯมาแล้วหลายครั้งหลายยุค
เสร็จสรรพ ท่านอาจบอกว่า "ขอบใจนะ อั๊วยังไม่สนว่ะ
วันหน้าอาจเรียกใช้ใหม่" หรือไม่ก็ "โอเค ดีว่ะ เอาออร์เดอร์ไป
โบรคเกอร์ละสามพันล้านนะ" (ได้คอมมิชชั่นหกล้าน คุ้มเหนื่อยว่ะ)
ไม่เวอร์นะครับ ถ้าใครเปิดดู จะพบว่า Aberdeen Asset Management ถือหุ้น
PTTEP รายเดียวตั้ง 56,000ล้านบาท
เหตุผลข้อห้า
"เป็นเรื่องของต้นทุนตัวกลาง" ตั้งแต่เราเปิดเสรี
(ซึ่งควรทำมาตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว) เราก็เริ่มปวดหัว ในหมู่คนไทยด้วยกัน
พวกขาใหญ่ นักปั่น นักทำ เค้าแทบไม่เสียค่าคอม
(เดิมก็มีแอบลดกันอยู่ทั่วไปอยู่แล้ว) แต่รายย่อยแมงเม่ายังต้องจ่ายไม่น้อย
ทีนี้การทำ การปั่นเลยยอกย้อนง่ายขึ้น จะโยกจะโยนเท่าไหร่ก็ได้
แต่สำหรับสถาบัน เค้ามีระบบที่ค่อนข้างแฟร์
ถ้าใช้บริการเยอะอย่างตัวอย่างข้างบน เค้าก็ยังจ่ายดี
แต่ถ้าเป็นพวกที่ใช้แต่ execution เช่น Direct Market Access หรือเป็น
Programme Trading พวกนี้ก็จ่ายน้อยมาก ประเด็นผมอยู่ที่ว่าภายใต้
การบริการที่เท่ากัน บัญชีแสนล้าน ย่อมมีอำนาจต่อรอง
มีต้นทุนต่อหน่วยที่ตำ่กว่าบัญชีสิบล้าน ร้อยล้าน อย่างแน่นอน
ข้อหกสุดท้าย เป็น"เรื่องความยาวความลึกของเค้า"
ตลาดหุ้นถึงแม้ไม่ใช่การพนัน แต่บางครั้งความผันผวนก็หลีกเลี่ยงไม่ได้
ความลึกความยาวของเงินทุนเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งสถาบันยาวกว่ามาก อย่างพวก
Pension Funds , Endowment Funds พวกนี้มีอายุ"กัลปาวสาน" แม้พวก Open-end
Funds ก็มักมีกระบวนการต่อเนื่องได้ยาว(นอกจากวิกฤติ)
นี่แหละครับ คนโง่ๆอย่างผม ใช้เวลาเรียนรู้ตั้งสามสิบหกปี
เป็นหนี้ท่วมหัวตั้งสิบห้าปี หาได้แค่หกเหตุผล
(ความจริงตอแหลดราม่าเล็กน้อย รู้เรื่องนี้มาตั้งยี่สิบปีแล้ว)
ตอนแรกก็งงว่าไอ้พวกพัฒนาแล้วนี่มันทำไมโง่นัก เรื่องรวยง่ายๆ
รวยเร็วๆไม่ยักกะสนใจ มัวแต่ไปทำเรื่องยาก R&D นวัตกรรม
เพิ่มProductivity อะไรกันวุ่นวายเหนื่อยยาก สู้เราก็ไม่ได้
หาเงินได้ง่ายๆเร็วๆ เป็นเศรษฐีร้อยล้านพันล้านกันในพริบตา
แล้วมาเขียนหนังสือขาย เปิดคอร์สสอนคนเป็นวิทยาทาน (ก็รวยขนาดนั้น
เงินไม่ต้องการแล้ว) แค่อยากให้คนอื่นรวยกันบ้าง
หรือไม่ก็เวลากูบอกให้ซื้ออะไรก็ตามๆกันโดยดี (กูจะได้ขายน่ะ)
วันนี้เขียนเสียยืดยาว รู้ดีว่า...ถึงจะสอดคล้องกับความเป็นไปในโลกพัฒนา แต่ช่างไม่สอดคล้องกับความคิดแบบไทยๆในตลาดเราเลย
ไม่ตรงกับแนวของตลาดหลักทรัพย์ ที่ตั้งเป้าKPI เพิ่มหุ้นเล็ก เพิ่มบัญชีรายย่อย อยากให้คนเล่นหุ้นทั่วประเทศทั่วทุกภาค
ไม่ตรงกับเพื่อนร่วมอาชีพบล.ด้วยกันที่ต้องการขยายฐานนักเล่นหุ้น
ต้องการให้คนเฮเข้าตลาดมากๆ ซื้อขายเยอะๆ อย่าอยู่เฉยๆ
ขึ้นนิดก็ควรขายทำกำไรไว้ก่อน ลงหน่อยก็น่าช้อน เฉลี่ยcost
นี่ไอ้เตามาทำลายบรรยากาศหมด หมูกำลังจะเข้าอวย
มึงทำไม่เป็นแล้วมาอิจฉาคนอื่นเขา
ไม่ตรงกับแนวคิดของอีกหลายส่วนในตลาดทุน เช่น
บลจ.บางแห่งที่ยังนิยมความหวือหวา ชมรมนักลงทุนรายย่อย นักวิเคราะห์
บจ.ขนาดเล็ก โดยเฉพาะในMAI โดยสรุปในสภาธุรกิจตลาดทุน
มีคนเห็นด้วยกับผมไม่เกินยี่สิบเปอร์เซ็น อีกกว่าแปดสิบ อยากเขกหัวไอ้เตา
(เมื่อสามปีที่แล้วถึงกับมีการแจ้งให้รมต.คลังทราบว่า
บรรยงไม่ใช่ตัวแทนธุรกิจในคณะกก.พัฒนาตลาดทุน..บังเอิญท่านทราบตั้งนานแล้ว
เลยตั้งผมเป็นประธาน คณะยกร่างแผน)
และผมก็ไม่เคยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งใดๆในสมาคมผลประโยชน์ร่วมไหนเลย
แถมยังไม่ตรงกับเพื่อนร่วมงานบางคนซะอีก(เราไม่เคยบังคับว่าต้องเชื่อฟัง
ท่านประธานฯ แม่งเลยเถียงทุกเรื่อง ทุกคน)
แต่อย่างน้อยถ้าลูกค้าภัทรจะซื้อหุ้น ต้องเข้าหลักคล้ายกับนักลงทุนสถาบัน
คือ fundamental base หุ้นใหญ่น้อยตัว ถือนาน กระจายและรับรู้ความเสี่ยง
ฯลฯ
ที่นำมาเขียนมาเล่าในที่สาธารณะ
ไม่ใช่เพื่อระบายเพราะคับแค้นอะไร (ความจริงอยู่อย่างนี้ แข่งอย่างนี้
สบายดีด้วยซำ้) แต่ด้วยคิดว่ารากฐานความคิดความรู้นี้
อาจจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ
อาจช่วยให้ทรัพยากรดีๆของประเทศไปทำเรื่องสร้างสรรสร้างชาติ
อาจมีส่วนให้ตลาดทุนพัฒนาไปในแนวทางที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น
เนื่องจากเป็นเรื่องค่อนข้าง controversial ผมเลยล่อซะยาวมาก หวังว่าถ้าทนอ่านจบ คุยมา เม้นต์มา วิจารณ์โต้แย้งกันบ้างนะครับ
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
- รับลิงก์
- X
- อีเมล
- แอปอื่นๆ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น