ทำไมผมถึง"ไม่กล้า"เล่นหุ้น (เขียนตอนหุ้นกำลังขึ้น..12กย.2556)

ทำไมผมถึง"ไม่กล้า"เล่นหุ้น (เขียนตอนหุ้นกำลังขึ้น..12กย.2556)

อย่างที่เคยเล่า...ผมเป็นประธานบริษัทหลักทรัพย์ที่คนเค้าเบื่อมาก เพราะใครถามเรื่องหุ้น ก็ไม่เคยรู้เรื่องรู้ราวกับใครเขาเลย บางคนหาว่าอมภูมิไปโน่นเลยก็มี ทั้งๆที่ความจริงผมไม่รู้จริงๆว่าหุ้นรายตัว เวลาไหนเป็นอย่างไร แถมส่วนมากไม่รู้จักหุ้นที่คนถามเลยด้วยซำ้

แต่ถ้าเรื่องของตลาดทุนโดยรวม เรื่องของกลยุทธธุรกิจในตลาดทุน ผมก็จะโม้ได้ว่าเรียนมาเยอะ ทำมาเยอะ (กระนั้นก็พูดได้ว่ารู้บ้าง อย่าว่าแต่รู้หมดเลยครับ รู้มากยังไม่กล้าอ้างเลย)

ก็เพราะผมไม่"เล่นหุ้น"นี่ครับ แถมแทบจะไม่ได้แม้แต่จะ"ลงทุน"ในหุ้นรายตัวเลยด้วยซำ้ ไม่โกหกว่ามีการซื้อบ้าง นานๆครั้งเมื่อเกิดมีข้อมูลที่น่าสนใจ(ที่รับรองว่าไม่ใช่inside ผิดกม.) และซื้อทีก็ไม่เคยขายก่อนหนึ่งปี ในบัญชีหุ้นผมตอนนี้ มีหุ้นKKP หุ้นเดียวเท่านั้น ที่ได้มาเพราะการแลกหุ้นจากหุ้นภัทร ที่ถือมาตั้งแต่ปี 2003 เพราะทำManagement Buy Out

ทำไมคนทำงานตลาดหุ้นไม่เชื่อมั่นตลาดไทยหรือ...เปล่าครับ ผมมีเงินลงทุนในตลาดหุ้นไทยไม่เคยน้อยกว่า ร้อยละห้าสิบ ของทรัพย์สินทางการเงินที่มีในประ เทศตลอดเวลา ถ้าคิดว่าตลาดราคาตำ่ จะดีขึ้นแน่ๆก็อาจเพิ่มถึง75% อย่างตอนนี้ก็ถืออยู่ 62% เพียงแต่ผมไม่ได้ถือหุ้น แต่ถือหน่วยลงทุนหุ้นทุน กับให้ฝ่ายจัดการการลงทุนส่วนบุคคล ของบล.ภัทร ที่เพิ่งเปิดให้บริการมาหนึ่งปี จัดการให้(ขอคุยว่าอันหลังนี้มีผลตอบแทนมากกว่าตลาดตั้ง 15%) เลยทีเดียว ผมเพียงแต่คอยดูว่าเมื่อไหร่ จะเพิ่มลดส่วนที่เป็นหุ้น กับคอยเลือกกองทุนเท่านั้น(ยังไม่บอกว่าลงของบลจ.ไหนบ้าง จนกว่าบลจ.ภัทรที่เพิ่งได้มาจะปรับตัวพร้อมแล้วจึงจะโฆษณาให้)

เพื่อนฝูงถามว่าก็ไหนคุยว่า ที่"ภัทร"มีfundamental research ที่ดี มีนักวิเคราะห์มือรางวัลเยอะแยะ ทำไมไม่คุยหาข้อมูลกับเขา ผมก็จะตอบว่า เค้าไม่คุยกับผมที่เป็นบัญชีเล็กๆ เค้าคุยแต่กับพวกนักลงทุนสถาบันที่มีเงินลงทุนต่อรายเกิน หมื่นล้านบาทเท่านั้น (ถ้าคุยกับผมคงต้องถูกไล่ออก เพราะผมจ่ายค่าคอมไม่พอเงินเดือนท่านๆ) ผมก็เลยเอาเงินไปฝากให้ท่านเจ้าประคุณผู้จัดการกองทุน ที่เปรียบเสมือนบิดามารดาของนักวิเคราะห์เก่งๆ(จากทุกบล.ด้วย ไม่ใช่ภัทรแห่งเดียว) ท่านลงทุนให้แทน ท่านคิดค่าธรรมเนียมแค่ปีละเปอร์เซ็นเดียวเอง

ความจริง ตอนเริ่มทำงานใหม่ๆเมื่อ 36 ปีก่อน เป็นเสมียนเคาะกระดานอยู่ในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นยุคเฟื่องฟูยุคแรกของตลาดหุ้นไทยที่เรียกกันว่า "ยุคราชาเงินทุน" ผมเคยใฝ่ฝันอยากเป็น "เซียนหุ้น"ที่รู้เรื่องหุ้นทุกตัวอย่างแตกฉาน อ่านตลาดขาด พูดคำไหนใครๆก็เชื่อ ก็ตาม ตอนนั้นมีเงินเท่าไหร่ก็ใส่ไปหมด ได้มาก็แทงยก แถมกู้ทุกบาทเท่าที่กู้ได้(สมัยนั้นดันหากู้ได้ง่ายด้วย) ตอนแรกรวยปลิ้น ยิ่งฮึกเหิม ซื้อรถสปอร์ต ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เที่ยวนอกตลอด

ฟู่ฟ่าอยู่แค่ปีครึ่งก็ฝันสลาย ทุกอย่างเป็นฟองสบู่ล้วนๆ ชิบหายกันทั้งตลาด จากที่เคยมีสองล้าน มาติดลบเป็นหนี้ ล้านสี่ คิดดูนะครับปี2522 เด็กอายุ 24 เงินเดือนสามพัน ดันมีหนี้ท่วมหัว โชคดีที่บริษัทจัดโปรแกรมเมตตา(ก็เละกันเกือบครึ่งบริษัทน่ะครับ) ให้ผ่อนนาน หักเงินเดือนสี่สิบเปอร์เซ็น หักต้นก่อน ดอกเบี้ยพักไว้ กระนั้นก็ต้องใช้เวลาผ่อนนานถึงสิบห้าปีกว่าจะหมด

แต่นั่นกลับเป็นโชค เพราะทำให้ผมทำงานอย่างหนัก(เพื่อให้เงินเดือนขึ้นเยอะๆ จะได้พอใช้เพราะได้รับแค่60%เอง) แล้วก็เลยเกิดแรงบับดาลใจที่จะต้อง รู้ ต้องเข้าใจเกี่ยวกับตลาดหุ้น ตลาดทุน ให้ลึกซึ้งถ่องแท้ให้จงได้ เลยเรียนรู้เรื่อยมา แต่อย่างที่บอกแหละครับ ยิ่งเรียนยิ่งรู้ว่ารู้น้อย แต่อย่างน้อยก็รู้ว่าควรทำอะไร และไม่ควรทำอะไร (นั่นคือไม่ควร"เล่นหุ้น"นะครับ และควร"ลงทุน"อย่างไร)

ตลาดหุ้นซบเซาสุดๆไปถึง 7 ปี ปี1983 ตลาดฯมีซื้อขายเฉลี่ยต่อวันแค่วันละ สิบเอ็ดล้านบาท (เท่ากับเดี๋ยวนี้แค่ครึ่งนาที) พอกลับมาฟื้นเริ่มเมื่อปี 1986 เพราะGlobalization เงินเริ่มไหลเข้า Emerging Market (ศัพท์ใหม่ที่บัญญัติกันตอนนั้น) ผมก็เลยถึงบางอ้อว่า ในเมื่อเงินฝรั่ง ทำให้หุ้นขึ้น ก็ต้องลงทุนแบบฝรั่ง เลยศึกษาวิธีการ พฤติกรรม แล้วก็ทำตาม ซื้อหุ้นเพราะวิเคราะห์fundamental ซื้อแล้วถือนานๆเป็นปี และที่ทำให้รำ่รวยก็เพราะใช้ concept ของ Venture Capital ไปลงทุนก่อนเข้าตลาดสองสามปี ช่วยเขาสร้างบริษัท แล้วค่อยเข้าตลาด หรือขายM&A (การลงทุนแบบนี้เปิดเผยทุกอย่าง บางครั้งลงพร้อมบริษัทได้ด้วยอย่างเปิดเผย ไม่ผิดกฎใดๆในเวลานั้น...กลต.เพิ่งตั้งเมื่อปี 1993เอง)

ตอนแรกไม่มี บลจ.ให้ลงทุน (ตอนนั้นมีแห่งเดียว เป็น Monopoly ซึ่งเป็นSynonym กับคำว่าVery Inefficient) ก็เลยต้องลงทุนเอง แต่ก็พยายามทำแบบกองทุน ซื้อแล้วถือนิ่งๆ ไปดูกองทุน country fund ที่ฝรั่งจัดการ แล้วลง portfolio ตามเขาเลย ผลตอบแทนดีตลอด

พอมีการให้อนุญาตจัดตั้ง บลจ.ใหม่อีกสิบแห่งในปี1992 ตอนแรกเริ่มก็ห่วยแตกเป็นธรรมดา แถมระดมทุนผิดจังหวะ (ปลายปี1993 SET Index ปาเข้าไปพันเจ็ดร้อย แล้วก็ดิ่งเหวไป ร่วมแปดปี) กลต.เองก็เพิ่งเรียนรู้ ไปออกกฎแปลกๆ เช่น ต้องเป็นกองทุนปิดเท่านั้น แถมบังคับให้ถือหุ้นเกือบทั้งหมดตลอดเวลา เวลาขายก็ให้ธนาคารระดมขาย ทั้งคนขายคนซื้อเลยไม่รู้ว่าตัวเองซื้อขายอะไรกัน มีความเสี่ยงแค่ไหน จำคุณลุงช่วย ลูกค้าธนาคารออมสิน ที่ขาดทุนมากมายจนต้องมาประท้วงเอาอุจจาระราดตัวได้ไหมครับ มาตรฐานตอนเริ่มต้นก็เป็นอย่างนี้

แต่พอนานเข้า ผ่านประสพการณ์การเรียนรู้ มีการแข่งขันด้านคุณภาพกันมากขึ้น บลจ.ส่วนใหญ่(ไม่ทั้งหมดนะครับ) ก็มีคุณภาพดีพอควร ถึงแม้ว่าไม่ถึงระดับโลก แต่ก็ใกล้เคียง ผมเริ่มลงทุนในกองทุนรวมหุ้นไทย ตั้งแต่ปี 2001 แล้วในที่สุดก็เลิกลงทุนในหุ้นตรง เพราะถ้าเลือกกองทุนได้ดี ผลตอบแทนดีกว่าเลือกหุ้นเองเยอะ จนกระทั่ง "ภัทร" เปิดบริการ "กองทุนส่วนบุคคล"เมื่อกลางปีที่แล้ว ผมจึงโอนครึ่งหนึ่งมาเปิดบัญชีเลขที่1 แล้วปรากฎว่ายิ่งดีใหญ่เลย ปีเดียวได้กว่าสามสิบเปอร์เซ็น

ถ้าศึกษาดู จะพบว่ากองทุนรวมหุ้น ที่มีคุณภาพดีของ บลจ. ส่วนใหญ่ จะมีลักษณะที่เหมือนกันอยู่หลายประการเช่น

- ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่เกือบทั้งหมด กว่าร้อยละเก้าสิบห้าของเงินลงทุน อยู่ในหุ้น SET100(หลายกองทุนร้อยละร้อยเลย)

- ไม่มีกองทุนใดซื้อขายเร็วเลย ทุกกองทุนมีVelocityตำ่กว่า1 เช่นมีขนาดกองทุน หมื่นล้าน จะซื้อขายไม่ถึงหมื่นล้านในหนึ่งปี (ถ้าเป็นนัก"เล่นหุ้น"จะซื้อขายหลายสิบรอบต่อปี)

- จะต้องมีการวิเคราะห์การลงทุนรอบด้าน และใช้fundamental analysis เป็นหลักในการตัดสินใจ

ถ้าสังเกตุดู ในต่างประเทศ จะไม่มีการแนะนำหุ้นในนิตยสารการเงิน แต่จะแนะนำวิธีเลือกกองทุนแทน ทั้งFortune , Forbes ในประเทศเจริญแล้วนักลงทุนจะลงทุนผ่านระบบ ผู้จัดการมืออาชีพแทบทั้งหมด ในประเทศตะวันตก แทบไม่มีประเทศใดเลยที่บุคคลธรรมดาซื้อขายในปริมาณเกิน 10% เมื่อตลาดพัฒนา สัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนบุคคลก็จะลดลงเรื่อยๆ

ผมถือคติว่า ถ้าเสียเปรียบ แล้วไม่มีวันได้เปรียบ...อย่าแข่ง เราไม่มีทางลงทุนได้ดีเท่าสถาบัน แล้วจะไปแข่งกับเค้าก็เจ๊งสิครับท่าน เอาเงินไปฝากเขาทำดีกว่า

วันนี้เอาแค่นี้ก่อนนะครับ พรุ่งนี้ผมจะเรียบเรียงเหตุผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ให้อีกทีว่า ทำไมบุคคลธรรมดาจึงไม่ควรลงทุนในหุ้นเอง รออ่านนะครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประสบการณ์จริงคนขึ้นศาลคดี Easybuy

แนวทางรับมือเมื่อได้รับหมายศาลแบบบ้านๆ โดยคุณแก้วจ๋า ชมรมหนี้บัตรเครดิต

ประสบการณ์ไปศาลคดี บัตรเครดิต UOB