วิกฤตต้มยำกุ้ง ภาค 4

ต้มยำกุ้ง" .......Episode 4
7 กรกฎาคม 2556

ในที่สุดหนังของเราก็ยืดยาวกว่า ละครคุณชายจุฑาเทพที่จะอวสานในคืนนี้

เมื่อวานผมได้สรุปกระบวนการแก้ไขระ บบสถาบันการเงิน ที่ทำให้ระบบหยุดไหล หยุดล่ม ไม่ต้องยึดเข้ามาเป็นของรัฐหมด ถึงแม้จะยังไม่กลับมาขยายตัว เพื่อรองรับศก. แต่ใช้เวลา ปรับตัวต่ออีกระยะหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ลองเปรียบเทียบ บ้านเพิ่งโดนนำ้ท่วมใหญ่ วินาศสันตะโร พอนำ้ลดก็จะต้องเก็บกวาด แยกของเน่าของเสีย จัดแจงซ่อมแซมระบบ ไฟฟ้าประปา จัดสร้างเขื่อนกั้นนำ้(เช่น ระบบบริหารความเสี่ยง) ฯลฯ ก่อนที่พร้อมจะเข้าไปหาซื้อทรัพย์ใหม่เข้าบ้าน ขยายตัวได้อีก ก็โน่นแหละครับ ปี 2544 โดยธนาคารกรุงไทยเป็นหัวหอกบุกตะลุย ทำให้เกิดสภาพแข่งขันขึ้นใหม่

วันนี้จะเล่าถึงกระบวนการด้าน องค์กรเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน(ปรส.) ซึ่งถูกตั้งขึ้นมาเพื่อจัดการกับ บริษัชทเงินทุน ที่ถูกระงับกิจการ ในวันที่ 5 สค.40 รวม 58 แห่ง ซึ่งหลังจากทำหน้าที่พิจารณาแผนที่ ทุกคนเสนอเข้ามา แล้วให้ผ่านแค่ 2 แห่ง (เกียรตินาคิน กับ BIC) ปิดถาวร 56 แห่งเมื่อ 8 ธค. 40แล้ว เลยต้องทำหน้าที่จัดการกับทรัพย์สินที่ติดอยู่ (ส่วนใหญ่เป็น NPL) ประมาณ 850,000 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องค้างคาใจสังคม หลายฝ่าย ว่าทำไมต้องรีบ ต้องร้อนเทกระจาดขาย ได้เงินเพียง 190,000 ล้านบาท เป็นคดีความยาวนาน มหากาพย์เรื่องหนึ่ง ผมจะขอเล่าในมุมที่ผมรับรู้เข้าใจนะครับ

คณะกรรมการฯ และเลขาธิการฯ คนเดิม พอรู้หน้าที่ว่าต้องรับเผือกร้อนสุดๆ ทำหน้าที่จัดการทรัพย์สินที่ว่า ท่านก็เลย แสดงความสามัคคี ลาออกโดยพร้อมเพรียงกัน ทำให้รัฐบาลต้องไปควานหา อ้อนวอนให้ผู้มีความสามารถ มาช่วยสะสางภาระกิจสำคัญนี้ ก็ไปได้คุณอมเรศ ศิลาอ่อน กับคุณวิชชรัตน์ วิจิตรวาทการ (คู่พระเอกของผมโผล่มาอีกคู่แล้วครับ)ที่ยอมมารับตำแหน่งประธานฯ และเลขาฯ ยอมเหน็ดเหนื่อยทำเรื่องยาก แล้วเลยต้องตกระกำกลายเป็นผู้ต้องหาทั้งทางสังคม และทางกฎหมาย อย่างน่าเห็นใจยิ่ง

ไอ้ทรัพย์สิน850,000ล้านนี้ มีทรัพย์สินประกอบการ กับพวกของตกแต่ง เช่น ตึก ที่ดิน รูปภาพ เฟอร์นิเจอร์ รูปภาพ ฯลฯ อยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นเงินให้กู้ ซึ่งในที่สุดเป็น NPL กว่า90% ในตอนแรก มีการพยายามแยกหนี้ดีออกมา โดยจัดตั้งธนาตารรัตนสิน (มีดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย เป็นประธาน) เพื่อซื้อหนี้ดีออกไป แต่ไปๆมาๆ ไม่มีหนี้ดีให้ซื้อ เลยต้องไปทำอย่างอื่น แล้วก็เลิก ก็ขายไป

ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ทรัพย์สินมูลค่าเกือบ 1/3 ของGDP ขณะนั้นประมาณ 2.8 ล้านๆบาท และส่วนใหญ่เป็นหนี้เสีย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ รวมทั้งผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง ทั้งระบบ ศก. หลายล้านคน จะจัดการกับมันยังไง ในเมื่อตัดสินใจไปแล้วว่าไม่ให้ผู้บริหารเดิมดูแลต่อ (ก็ปิดไปแล้ว และผมก็เห็นด้วยไปแล้วในตอนที่แล้ว ไงครับ) รัฐก็ดูจะมีทางเลือกแค่สองทาง คือ 1)เก็บเอาไว้(warehousing) แล้วค่อยๆดูแล บริหารจัดการ ค่อยๆเก็บ ค่อยๆทวง ว่าๆกันไป (ผมรับรองว่าดูแลจัดการยากกว่า สต็อคข้าวหลายร้อยเท่า แล้วก็ แฮ่ม...เสียหาย สูญหายได้ง่ายกว่าเยอะ) กับ2)เทขายออกไป ให้ระบบ ให้เอกชนเข้ามาจัดการ

ประสบการณ์ที่เคยมีในโลกในเรื่องนี้ ช่วงเดียวกันมีอย่างนี้

- ในอเมริกา มี Saving & Loan Crisis ช่วง 1990 เขาใช้วิธี fire sell ซึ่งได้ผลดีมาก เพราะ สินทรัพย์ไม่ใหญ่ (< 5% ของGDP) กับกลไกตลาดและระบบกฎหมายที่ดีเกื้อหนุน
- ในสวีเดน มีbanking crisisใหญ่ ปี 1992 รัฐตั้งบรรษัท Securum เพื่อจัดการ bad asset ของระบบ ซึ่งได้ผลดีมาก จัดการได้เร็ว ขายได้เร็ว มีประสิทธิภาพสูง ได้เงินคืนเยอะเป็นประวัติการณ์ recovery rate ดีกว่า55% เพราะระบบดี และมีประเทศอื่นในยุโรป เข้ามาช่วยซื้อ
- ใน Peso Crisis ของ Mexico เมื่อปี 1994 รัฐจัดตั้ง Asset Management ขนาดใหญ่ชื่อFOBAPROA มารับหนี้เสีย ของระบบธนาคารพาณิชย์ เสร็จแล้ว ก็เป็นเหมือนรัฐวิสาหกิจในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย แหละครับ คือเละ จนถึง1998 ไม่มีความคืบหน้าแทบจะนั่งทับไว้แก้ได้น้อยมาก แถมที่แก้ได้บ้างก็มีเรื่องโกง เรื่องกิน เต็มไปหมด นี่ถ้านำ้มันไม่ขึ้นราคา สงสัยMexico จะฟื้นยาก
แล้วคุณคิดว่า "พี่ไทย" น่าจะเป็นอย่าง Mexico หรือ Sweden ล่ะ

ความจริงมีการพิจารณา ที่จะพยายามจัดตั้ง Asset Management เพื่อ Warehouse และค่อยๆจัดการหนี้เสีย มีการเชิญผู้บริหารของ Securum มาปรึกษา นัยว่าอาจว่าจ้างให้ช่วยบริหารด้วยเลย ซึ่งผมมีโอกาสได้เจอ แต่เขามาดูมาศึกษาแล้วก็สรุปว่า ไม่น่าทำได้ ทั้งระบบกฎหมาย ข้อมูล ฯลฯ เรียกว่า "จ้างให้กูก็ไม่ทำ" (นี่โชคดีที่ไม่เชิญพี่Mexico มา มิฉะนั้นอาจได้ตั้งเพราะนำ้ลายไหลก็ได้) ซึ่งเรื่องนี้ เราเห็นได้จาก AMC ของรัฐที่มีการจัดตั้งบ้างในภายหลัง ว่ามีประสิทธิภาพ และกำไร น้อยกว่าของพวกเอกชนเยอะ ไม่ว่าจะ บบส. บสท. สุขุมวิท ฯลฯ ซึ่งน่าจะเป็นเพราะ ห่วย กับ หาย

อีกเรื่องที่สำคัญมาก คือการที่มีทรัพย์สิน จำนวนมหึมา กว่า1/3 ของGDP ติดอยู่กับ ปรส. ย่อมเป็นที่แน่นอน ว่าทรัพย์สินพวกนี้ย่อมไม่สามารถสร้างผลิต ผลได้ กิจการชะงักงัน หรือทำได้ก็ไม่เต็มที่ เช่น หาworking cap ไม่ได้ แถมยังจะตั้งหน้าตั้งตา sifon ปล้นจากเจ้าหนี้ทุกวิถีทางอีก การที่รีบคืนทรัพย์ให้กับระบบ เพื่อจะได้เริ่มการผลิตตามปกติ และจะได้ขยายตัวต่อไป (เป็นNPLขยายตัวไม่ได้ มีแต่หด)เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน ดังนั้นเมื่อรัฐทำเองก็ไม่ได้ไม่ดี ก็นำไปสู่การตัดสินใจสำคัญ คือ การขายทอดตลาดfiresale ซึ่งอีกละ....ในความเห็นผม เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ชอบแล้ว (ไอ้เตา... มันเป็นเรื่องความวินาศนะ เขียนมาตั้งนานยังไม่ค่อยด่าใครเลย ชมลูกเดียว เดี๋ยวคนเลิกอ่านนะ....ไม่มันเลย... ผิดNorm ไทยๆหมดเลย)

มีช้อโต้แย้งมากมายว่า ทำไมไม่ทำอย่างโน้น อย่างนี้ น่าจะแยกทรัพย์เป็นหลายประเภท แล้ว treat ต่างกันก็น่าจะต้องใช้เวลาสัก3ปี ยิ่งบางคนมาวิจารณ์ภายหลังเข้าทำนอง "รู้อะไร ไม่เท่า รู้งี้" ก็ว่ากันไป ความจริงมีความพยายามพิจารณาทุกช่องทาง เช่น พยายามปรับกฎหมายเพื่อให้กระบวนการ แก้ไขดีขึ้น สะดวกขึ้น พวกที่เสียประโยชน์ ก็โวยวาย เรียกว่าเป็นกม.ขายชาติ lobby วุฒิสภาวุ่นวายไปหมด กฎหมายเลยออกไม่ได้ ออกช้า หรือไม่ก็บิดเบือน อย่างที่บอกแหละครับทั้งกฎ ทั้งกลไก มันไม่เอื้อ ขณะที่จะรอก็รอไม่ได้อย่างที่บอ

กรณี ปรส. นี้เป็นการกัดลูกปืน(bite the bullets) ครั้งใหญ่ ความไม่มีประสิทธิภาพของระบบ เช่น ความไม่สมบูรณ์ของข้อมูล ระบบกฎหมาย ต่างๆ ทำให้เกิดความเสียหายกว่า 600,000ล้านบาท ซึ่งผมคิดว่าเป็นต้นทุนการแก้วิกฤติที่ไม่ได้รั่วไหลเข้ากระเป๋าใคร (ถึงได้ไม่มีงบซื้อสื่อให้เชียร์ไงครับ) (อ้าวไอ้เตา... มึงเล่น ฐานันดร4เลยนะ คราวนี้)ถือเป็นต้นทุนสูงลิ่ว แต่ไม่มีทางเลือก ผมเชื่อว่าเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ระบบศก.เดินได้อีก และรัฐไม่ต้องnationalize กิจการเอกชนมากเกินไป ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นผมื่อเลยว่าเราจะเผชิญ หายนะ ยาวนาน

คนที่เกี่ยวข้อง ตัดสินใจ และปฏิบัติ ในเรื่องนี้ เช่น รัฐบาล กท.คลัง IMF รวมทั้งผู้ดำเนินการ อย่างคุณอมเรศ คุณวิรัตน์ และทีมงาน ก็น่าจะรู้ว่ามีโอกาสที่จะต้องถูกประนาม ถูกเช็คบิลสูง แต่ผมขอสวนกระแสยกย่องเชิดชู ในฐานะผู้ที่เสียสละอย่างใหญ่หลวงให้เรากลับมาเดินได้อีก ผมจะดีใจและภูมิใจมากถ้าข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ในการยื่นอุทธรณ์คดีที่ท่านได้รับการตัดสินอย่างไม่เป็นธรรม (ขอยืนยันว่าผมไม่ได้สนิทสนมเป็นส่วนตัวกับท่านทั้งสองเลย แถมที่เคยเจอกันท่านก็ไม่เคยเห็นผมอยู่ในสายตาเลย ตามบุคคลิกของท่าน)

ถึงตอนนี้ อย่าเพิ่งปักใจว่าผมเป็นพวก เป็นสมุนปชป. นะครับ ตอนฟื้นฟูพระเอกของผมอยู่ ไทยรักไทย เกือบหมดเลย

ต้องขอโทษที่วันนี้หนังฉายช้า เลยต้องไปแข่งกับ โจโควิช-เมอร์เรย์ แถมถูกประกบด้วยคุณชายอีกตั้ง 5 คน เพราะเมื่อเช้า ซ่าไม่เจียมสังขาร ไปbike มากว่า 50 กิโล กลางวันเลยสลบยาว นอนไป4ชั่วโมง พบกันใหม่ครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประสบการณ์จริงคนขึ้นศาลคดี Easybuy

ประสบการณ์ไปศาลคดี บัตรเครดิต UOB

แนวทางรับมือเมื่อได้รับหมายศาลแบบบ้านๆ โดยคุณแก้วจ๋า ชมรมหนี้บัตรเครดิต