REALITY DREAM BUSINESS



REALITY DREAM BUSINESS – รวมธุรกิจในฝันขนาดย่อม (ตอนที่ 4)
May 12, 2011
เรื่อง : สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์, พลอย มัลลิกะมาส, ชัชรพล เพ็ญโฉม
ในช่วง 5-8 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับแขกได้มากกว่า 100-200 ห้องเริ่มชะลอตัว ในขณะที่ บูติกโฮเต็ลที่มีห้องพักเพียงแค่หลักสิบ (หรือน้อยกว่า) กลับมีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มสูงขึ้นมาก เสน่ห์ดึงดูดใจของ บูติกโฮเต็ลเหล่านี้อยู่ที่การออกแบบสร้างสรรค์ บรรยากาศภายในให้มีเอกลักษณ์เฉพาะ (ไม่ได้เน้นแค่เพียงความสวยงาม แต่ต้องตอบโจทย์ความต้องการเชิง “Lifestyle” ของแขกที่มาพักด้วย)
แต่ใช่ว่าธุรกิจนี้จะเป็นอะไรที่ใหม่เอี่ยมอ่องกันทั้งหมด เพราะอันที่จริงแล้วบูติกโฮเต็ลหลายๆ แห่งในสมัยนี้ก็คือโรงแรมขนาดเล็กในสมัยก่อน” (ที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับโรงแรมขนาดใหญ่ ต่างกันก็ตรงที่มีจำนวนห้องน้อยกว่าเท่านั้น) แต่เมื่อยุคสมัยและพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนเปลี่ยนไป โรงแรมขนาดเล็กเหล่านี้ก็จำต้องหาทางปรับตัวเพื่อความอยู่รอด นี่คือที่มาอันหนึ่งของการ ปะแป้งแต่งตัวและให้นิยามตัวเองใหม่ว่าเป็นบูติกโฮเต็ล
นอกจากนั้น บูติกโฮเต็ลยังอาจเกิดขึ้นจากการกลายพันธุ์ของสถานประกอบการและอาคารบ้านเรือนสไตล์อื่นๆ ในอดีต ที่ทุกวันนี้ต่างทยอยเปลี่ยนโฉมหน้า (และฟังก์ชั่น) กลายเป็นธุรกิจ “Culture & Hospitality” เกาะกระแสวัฒนธรรมการท่องเที่ยวแบบ มีสไตล์ที่กำลังบูมสุดๆ ในขณะนี้
TCDCCONNECT ขอพาคุณเดินทางไปเยี่ยมเยียนโรงแรมเก๋ในย่านเมืองเก่าอันได้แก่ พระนครนอนเล่น, เฟื่องนคร, เดอะ ภูธร และดิ อัษฎางค์ เพื่อค้นหาว่า บูติกโฮเต็ลชื่อเก๋พวกนี้มันต้องการสูตรสำเร็จอะไรบ้าง
กลุ่มธุรกิจที่ 4 : บูติกโฮเต็ล
กรณีศึกษาที่ 1 – โรงแรมพระนครนอนเล่น
ความเป็นมา
หลังจากได้เป็นเจ้าของอาคารเก่าหลังหนึ่งในย่านเทเวศร์ คุณโรส วริศรา มหากายี ตั้งใจที่จะปรับปรุงอาคารนี้ให้เป็นหอพักสำหรับกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัด (ที่ต้องเข้ามาพำนักในกรุงเทพฯ) ดังนั้น แนวคิดแรกเริ่มทางการออกแบบก็คือ การเปลี่ยนสภาพตึกเก่าทรุดโทรมให้กลายเป็นพื้นที่ที่มีแต่ต้นไม้ล้อมรอบ มีบรรยากาศเงียบสงบเพื่อให้แขกต่างจังหวัดได้ความรู้สึกเหมือนอยู่กับบ้าน แต่ด้วยความพิถีพิถันส่วนตัวทางด้านการตกแต่งทำให้งบประมาณไม่สอดคล้องกับเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ คุณโรสจึงเบนเข็มปรับรูปแบบธุรกิจใหม่ให้เป็นบูติกโฮเต็ล โดยเธอได้เพิ่มพื้นที่ส่วนกลางให้แขกสามารถใช้พักผ่อน ทานอาหาร นั่งเล่น และทำกิจกรรมต่างๆ ได้
เอกลักษณ์ที่แตกต่าง
สิ่งสำคัญที่ทำให้ พระนครนอนเล่นแห่งนี้มีความแตกต่างจากบูติกโฮเต็ลอื่นๆ ก็คือ การนำ หัวใจสีเขียวเข้าไปผนวกกับการทำโรงแรม ณ ที่แห่งนี้ คุณโรสไม่ได้เพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกต้นไม้เท่านั้น แต่เธอได้นำแนวคิดการออกแบบอย่างยั่งยืน” (Sustainable Design) เข้าไปสอดแทรกในทุกรายละเอียดเท่าที่ทำจะได้ อาทิเช่น
1. ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างของตึกเก่าให้มากที่สุด หลีกเลี่ยงการดัดแปลง ต่อเติม เพื่อรักษาจิตวิญญาณของอาคารเก่าที่สวยงามเอาไว้
2. เฟอร์นิเจอร์ในโรงแรมส่วนใหญ่เกิดจากการนำเฟอร์นิเจอร์เก่าหรือไม้เก่ามาปรับปรุงให้ใช้งานได้เต็มร้อย
3. ผ้าม่านที่ใช้ภายในห้องพักมาจากการตัดเย็บเศษผ้าให้กลายเป็นผ้าผืนใหญ่
4. การเพ้นท์สีผนังภายในโรงแรมตั้งใจให้มีกลิ่นอายของความเป็นต่างจังหวัด ในขณะที่บรรยากาศโดยรวมจะแฝงไว้ซึ่งความสงบและร่มรื่น (แม้กระทั่งทางเชื่อมของแต่ละอาคารก็จะมีต้นไม้ปกคลุมโดยตลอด)
5. การดัดแปลงที่ว่างบนดาดฟ้าให้กลายเป็นพื้นที่ปลูกผักสวนครัว เช่น ต้นกระเพรา, โหระพา, กระเจี๊ยบ, ผักสลัดต่างๆ ซึ่งคุณโรสได้นำมาใช้เป็นส่วนประกอบหลักในการประกอบอาหารสำหรับแขกในโรงแรมด้วย
โอกาสและความเป็นไปได้ทางการตลาด
แม้ว่าการแข่งขันของบูติกโฮเต็ลจะรุนแรงขึ้นทุกขณะ แต่พระนครนอนเล่นก็มีข้อได้เปรียบตรงที่ได้เลือกแนวคิดสีเขียวและความยั่งยืนมาเป็นหัวใจหลักในการดำเนินกิจการ จุดนี้ทำให้โรงแรมมีกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะและชัดเจนมาก อีกทั้ง ทำเลที่ตั้งซึ่งแฝงตัวอยู่ในชุมชนเก่าย่านเทเวศร์ก็ถือเป็นข้อได้เปรียบอีกข้อ เพราะแขกที่มาเข้าพักสามารถสัมผัสถึงวิถีชีวิตชาวบ้านได้อย่างเต็มที่ (ซึ่งหาได้ค่อนข้างยากในเมืองกรุงปัจจุบัน)
เคล็ดลับของพระนครนอนเล่น
- ปลูกฝังให้พนักงานทุกคนเข้าใจถึงแนวคิดสำคัญของผู้เป็นเจ้าของ เช่น ตัวคุณโรสเป็นผู้ที่เห็นความสำคัญของธรรมชาติ การอยู่ร่วมกัน และการเกื้อกูลกัน เธอจึงพยายามทำให้พนักงานทุกคนได้เข้าใจและซึมซับในหลักคิดนี้ด้วย ที่พระนครนอนเล่นพนักงานทุกคนจะมีโอกาสหมุนเวียนสลับสับเปลี่ยนไปช่วยกันปลูกผักบนดาดฟ้า ทำให้แต่ละฝ่ายมีโอกาสพูดคุยสนทนากัน ได้เรียนรู้ทำความเข้าใจในเนื้องานของกันและกัน คุณโรสเล่าว่า วิถีแห่งธรรมชาตินี้ จะช่วยให้ทีมงานทุกคนมีความเอื้อเฟื้อต่อกันและเข้าถึงตัวตนของโรงแรมได้มากขึ้นด้วย
- สร้าง Brand Experience แบบ 360 องศา แนวคิดของโรงแรมควรได้รับการถ่ายทอดผ่านทางทุกสัมผัส ทั้งรูป (การตกแต่งสถานที่), รส (อาหารออร์แกนิค), กลิ่น (กลิ่นต้นไม้ดอกไม้และไอดินจากธรรมชาติ), เสียง (ความเงียบสงบ, เสียงนกร้องตอนเช้า), และสัมผัส (การบริการของพนักงาน)
- Word of Mouth คือ เครื่องมือทางการตลาดที่มีความหมายมากสำหรับธุรกิจโรงแรมขนาดเล็ก ลูกค้าประจำของพระนครนอนเล่นส่วนมากจะมีรูปแบบการดำเนินชีวิตและความสนใจที่สอดคล้องกันกับทางโรงแรม ซึ่งคนเหล่านี้ก็จะเป็นกระบอกเสียงสำคัญที่ดึงลูกค้าใหม่ๆ เข้ามา
ข้อมูลธุรกิจ
เจ้าของธุรกิจ : คุณวริศรา มหากายี (คุณโรส)
ขนาดพื้นที่ : 280 ตารางวา
ปีที่เปิดให้บริการ : ปี 2548
งบประมาณเริ่มต้น : 7 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่)
อัตราค่าบริการ : 1800 บาท ขึ้นไปต่อคืน
ระยะเวลาคืนทุน : ไม่มีการตั้งเป้าไว้
จำนวนพนักงานเมื่อเริ่มต้น : 5 คน
จำนวนพนักงานในปัจจุบัน : 26 คน
โครงการในอนาคต : Home Stay ที่เกาะลิบง
กรณีศึกษาที่ 2 – โรงแรมเฟื่องนคร 
ความเป็นมา
จากจุดเริ่มต้นที่ครอบครัวของคุณธันยาภรณ์ เปี่ยมวิริยะกุล ได้มีโอกาสเป็นเจ้าของที่ดินผืนย่อมบนถนนเฟื่องนคร ตรงข้ามวัดราชบพิธ ซึ่งอดีตเคยเป็น โรงเรียนประถมเก่าแก่ แรกเริ่มเดิมทีนั้น พ่อของคุณธันยาภรณ์ตั้งใจจะทำเป็นที่จอดรถให้เช่า (เนื่องจากเห็นช่องว่างทางธุรกิจที่จะสร้างรายได้แบบชัวร์ๆ ในย่านนั้น) แต่ด้วยความที่ฝ่ายคุณแม่ไม่ต้องการจะทุบอาคารเดิมทิ้ง จึงคิดว่า น่าจะปรับปรุงโครงสร้างเดิมแล้วทำเป็นหอพัก อย่างไรก็ดี เมื่อทุกคนในครอบครัวพิจารณาถึงทำเลที่ตั้ง ต้นทุน งบประมาณ และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ แล้ว ก็ได้ข้อสรุปว่า ธุรกิจบูติกโฮเต็ลน่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดนั่นเองคือจุดเริ่มต้นของ เฟื่องนครบูติกโฮเต็ลสไตล์น่ารักน่าพัก ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นโอเอซิสน้อยๆ ของคนไกลบ้านบนเกาะรัตนโกสินทร์ 
เอกลักษณ์ที่แตกต่าง
นอกจากทำเลที่ตั้งบนถนนเฟื่องนครซึ่งได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งในทำเลทองของเกาะรัตนโกสินทร์แล้ว (อยู่ใกล้ชิดกับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ของกรุงเทพฯ เช่น วัดพระแก้ว ,วัดราชบพิธ, วัดสุทัศน์, ศาลหลักเมือง, เสาชิงช้า, วัดโพธิ์, ท่าเตียน, แพร่งภูธร, แพร่งนรา ฯลฯ) โรงแรมเฟื่องนครยังได้เปรียบที่พักเจ้าอื่นๆ ในละแวกเดียวกันด้วยเรื่องของขนาด บรรยากาศ ความเงียบสงบ ตลอดจนพื้นที่สีเขียวของสวนสวยส่วนกลาง ความรู้สึกของโอเอซิสกลางเมืองนี้ สร้างความประทับใจให้กับลูกค้าที่เข้าพักได้อย่างมาก (น้อยคนนักจะคาดคิดว่า ณ ใจกลางย่านเกาะรัตนโกสินทร์จะมีที่พักที่ให้บรรยากาศแบบนี้ตั้งอยู่) 
โอกาสและความเป็นไปได้ทางการตลาด 
แม้จะเปิดบริการมาได้ไม่ถึงครึ่งปี แต่ด้วยความที่มีทำเลที่ตั้งที่ดีบวกกับ กลยุทธ์ทางการตลาดที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยใช้การติดต่อประชาสัมพันธ์ผ่านตัวแทนจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ ก็ทำให้โรงแรมน้องใหม่แห่งนี้ดำเนินธุรกิจแบบเหนือความคาดหมาย ทำสถิติห้องพักเต็มทั้ง 41 ห้องในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
เคล็ดลับของเฟื่องนคร
- คุณสมบัติสำคัญของผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการบูติกโฮเต็ล คือ ต้องเป็นคนที่มีใจรักในงานบริการ ชอบพบปะเจอะเจอพูดคุยกับผู้คน มีความอดทนสูง ใจเย็น และเป็นคนใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ เพราะงานโรงแรมเป็นงานที่มีเรื่องจุกจิกเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวอาคาร ห้องพัก บุคลากร ฯลฯ 
- รูปภาพและภาพถ่ายที่สวยงามเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับโรงแรมหน้าใหม่ เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะตัดสินใจเลือกที่พักจากภาพถ่ายที่ได้เห็น
- ในปัจจุบัน Social Network มีความสำคัญมากกับธุรกิจโรงแรม เพราะหากลูกค้าได้รับการบริการที่ประทับใจก็จะนำไปสู่การเขียนรีวิวให้ใน Blog และ Website ต่างๆ
ข้อมูลธุรกิจ
เจ้าของธุรกิจ : คุณธันยาภรณ์  เปี่ยมวิริยะกุล 
ปีที่เปิดให้บริการ : ตุลาคม ปี 2553
งบประมาณเริ่มต้น : 30 ล้าน (เฉพาะค่าปรับปรุงและซ่อมแซม) 
อัตราค่าบริการ : 750 – 3,750 บาท
ระยะเวลาคืนทุน :  4 – 5 ปี
จำนวนพนักงานเมื่อเริ่มต้น : 4 คน
จำนวนพนักงานในปัจจุบัน : 13 คน
โครงการในอนาคต : หาที่ดินเพิ่มเติมในย่านเดียวกันนี้เพื่อทำโครงการใหม่
กรณีศึกษาที่ 3 “เดอะ ภูธรและ ดิ อัษฎางค์
ความเป็นมา 
เรื่องราวของ เดอะภูธร เริ่มต้นขึ้นจากความหลงใหลในการเดินทางท่องเที่ยวของสองสถาปนิกคู่สามีภรรยา คุณจิตรลดา และ คุณดิเรก เส็งหลวง ผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากโรงแรมที่ดัดแปลงมาจากอาคารเก่าแก่รูปแบบต่างๆ อาทิเช่น ปราสาทเก่า บ้านพักแบบโฮมสเตย์ ฯลฯ จนกระทั่งวันหนึ่ง ดวงชะตาของผู้หลงเสน่ห์อาคารเก่ากับตึกร้างคร่ำคร่าบนถนนแพร่งภูธรก็ได้โคจรมาพบกัน มิต้องสงสัยว่าสถาปนิกทั้งสองเกิดอาการ ตกหลุมรักตึกร้างหลังนั้นในทันที และหมายใจว่า จะบูรณะเป็นสำนักงานในอนาคต แต่ค่าที่ชอบเที่ยวและรักการพบปะต้อนรับผู้คนเป็นนิสัย อีกทั้งยังพอมีประสบการณ์ด้านการออกแบบโรงแรมหลายแห่ง เดอะ ภูธรบูติกโฮเต็ลขนาด 3 ห้องนอน จึงถือกำเนิดขึ้นแทนที่ออฟฟิศ ก่อนที่ในอีกสองปีต่อมา ดิ อัษฎางค์ ซิซเตอร์โฮเต็ล จะได้ฤกษ์คลานตามออกมา
เอกลักษณ์ที่แตกต่าง 
เพียงแค่ได้ยินเรื่องราวการชุบชีวิตอาคารเก่าในย่าน ‘Old town Bangkok’ ให้กลายเป็น บูติกโฮเต็ลสไตล์โคโลเนียลเราก็มั่นใจว่า งานนี้ขายได้แน่นอน ยิ่งเมื่อผนวกกับการบริการที่เจ้าของดูแลเองทั้งหมด ก็ยิ่งทำให้ที่พักขนาด 3 ห้องของ เดอะ ภูธรนี้ถูกจองเต็มตลอดแทบจะทั้งปี (สินค้าสมัยนี้ยิ่งได้มายากยิ่งให้ความรู้สึกพิเศษ) ทั้งนี้คุณจิตรลดาเล่าให้เราฟังว่า ในการให้บริการแขกผู้เข้าพักเธอจะยึดคอนเซ็ปท์ ‘Customise’ เป็นหลัก นั่นก็คือ การทำความรู้จักกับแขกและใส่ใจในรายละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาทิเช่น หากทราบว่าแขกมีอาชีพเป็นเชฟ เธอก็จะวางหนังสือเกี่ยวกับการทำอาหารไว้ในห้อง หรือหากพบว่า แขกถือหนังสือโขนอยู่ในมือ ก็จะแนะนำสถานที่ชมโขนให้โดยไม่ต้องรอให้แขกร้องขอ ซึ่งการบริการเหล่านี้เกิดขึ้นจากตัวตนข้างในของเธอที่มีนิสัยชอบดูแลผู้อื่น และมีความละเมียดละไมกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ
นอกจากนั้น การที่โรงแรมมีทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และมีจำนวนห้องน้อยมาก (เดอะ ภูธร มี 3 ห้อง, ดิ อัษฎางค์ มี 9 ห้อง) ก็เป็นอีกจุดเด่นที่ทำให้แขกผู้เข้าพักรู้สึกถึงความเป็นส่วนตัว ถูกใจผู้ที่ชอบการเดินทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและผู้ที่ต้องการความแตกต่าง รวมถึงผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวในแบบ Slow travel ด้วย

โอกาสและความเป็นไปได้ทางการตลาด 
ด้วยจำนวนห้องที่จำกัดและทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวระดับ ‘Must-see’ รวมถึงสไตล์การตกแต่งและการบริการที่มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ทำให้มั่นใจได้ว่าทั้ง เดอะ ภูธร และ ดิ อัษฎางค์ จะได้ต้อนรับแขกแบบเต็มๆ ตลอดทั้งปีแน่นอน
เคล็ดลับของ เดอะ ภูธรและ ดิ อัษฎางค์
- หากต้องการจะบูรณะอาคารเก่าเพื่อประโยชน์ใช้สอยใหม่ จะต้องเผื่อเวลาและเงินทุนไว้พอสมควร เนื่องจากการซ่อมแซมอาคารเก่าไม่สามารถเขียนแบบได้ละเอียดเหมือนกับอาคารใหม่ อย่างไรก็ดี ข้อได้เปรียบคือ ในระหว่างการซ่อมแซมนั้นมักจะมีไอเดียใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ
- ในการทำบูติกโฮเต็ลขนาดเล็ก เจ้าของสามารถยกเฟอร์นิเจอร์หรือของสะสมที่บ้านมาประยุกต์ใช้ตกแต่งโรงแรมได้ ทั้งนี้เพื่อให้ได้อารมณ์อย่างที่ต้องการ และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเริ่มต้นธุรกิจ
- การดูแลรายละเอียดทุกอย่างทุกขั้นตอนด้วยตนเองจะทำให้เจ้าของธุรกิจได้เรียนรู้งานทั้งระบบ และสามารถกำหนดทิศทางการทำงานให้เข้ากับความเป็นตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องยึดบรรทัดฐานของโรงแรมทั่วไป อาทิเช่น การไม่มีเคาน์เตอร์เช็คอินแต่มีโซฟารับแขกแทน เป็นต้น
- จงทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ใส่ความเป็นตัวตนลงไปให้เต็มที่ เพื่อให้โรงแรมมีบุคลิกที่โดดเด่นเฉพาะตัว
- การเดินทางท่องเที่ยวให้แรงบันดาลใจใหม่ๆ เสมอ
- แก้ไขปัญหาเรื่องพนักงานเข้า-ออกบ่อยด้วยการจ้างสำรองไว้
ข้อมูลธุรกิจ
เจ้าของธุรกิจ : คุณจิตรลดา เส็งหลวง และ คุณดิเรก เส็งหลวง
สถานที่ตั้ง : เดอะ ภูธร ถนนแพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ, ดิ อัษฎางค์ ถนนอัษฎางค์ แขวงวังบูรพาภิรมย์ ทั้งสองแห่งอยู่ในเขตพระนคร
ขนาดโรงแรม : เดอะภูธร ขนาด 3 ห้อง, ดิ อัษฎางค์ ขนาด 9 ห้อง (ลักษณะอาคารเป็นห้องแถวเก่า)
ปีที่เปิดให้บริการ  : เดอะ ภูธร ปี 2552, ดิ อัษฎางค์ ปี 2554
งบประมาณเริ่มต้น : ไม่ได้เก็บตัวเลขไว้ แต่น่าจะเป็นเลขเจ็ดหลัก
อัตราค่าบริการ : ราคาห้องพักเริ่มต้นที่เดอะ ภูธร 3,600 บาท, ที่ดิ อัษฎางค์ 2,800 บาท ระยะเวลาคืนทุน : เนื่องจากไม่มีงบลงทุนแน่ชัด จึงไม่ได้คำนวณไว้
จำนวนพนักงานเมื่อเริ่มต้น : ไม่แน่นอน (เพราะมีพนักงานเข้า-ออกตลอดเวลา)
จำนวนพนักงานในปัจจุบัน : วางแผนให้มี 8 – 10 คน  (สลับกันดูแลทั้ง 2 แห่ง)
โครงการในอนาคต : หาพื้นที่ริมแม่น้ำหรือต่างจังหวัดเพื่อเปิดโรงแรมเพิ่มอีก

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประสบการณ์จริงคนขึ้นศาลคดี Easybuy

แนวทางรับมือเมื่อได้รับหมายศาลแบบบ้านๆ โดยคุณแก้วจ๋า ชมรมหนี้บัตรเครดิต

หมายศาลจะถุกส่งไปที่ไหน