การเงินในวัยเกษียณ

การเงินในวัยเกษียณ

วรวรรณ ธาราภูมิ และ เสกสรร โตวิวัฒน์
บลจ.บัวหลวง จำกัด

4 ตุลาคม 2555

1 ตุลาคม ของทุกปี เราจะมีข้าราชการจำนวนหนึ่งที่เกษียณอายุงาน และในแต่ละปีเราก็มีผู้บริหาร พนักงานบริษัทเอกชนที่เกษียณอายุจำนวนไม่น้อย

จริงอยู่ ที่คนเกษียณแล้วจะได้พักผ่อนหลังจากตรากตรำทำงานมาทั้งชีวิต แต่ปัญหาก็คือ การเงินของเรามันไม่ได้เกษียณตามไปด้วย แล้วเราควรทำอย่างไรกับเงินในวัยเกษียณ


1.คนทำงานต้องเกษียณเมื่ออายุเท่าไหร่

กฏ กติกา ของการจ้างงานทั่วไปในเมืองไทยนั้น การเกษียณเกิดขึ้นเมื่อมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป แต่ก็จะมีบ้างที่กำหนดให้เกษียณก่อน 60 ปี เช่น 55 ปี เป็นต้น

บางบริษัท เกษียณแล้วก็มีการต่ออายุทำงานให้เป็นคนๆ และบางแห่งมีการกำหนดให้ผู้หญิงเกษียณก่อนผู้ชาย ทั้งๆ ที่ผู้หญิงจะมีภาระการเงินมากกว่าผู้ชายในวัยเกษียณเนื่องจากตามสถิติทั่วโลกแล้ว ผู้หญิงมีชีวิตอยู่ได้นานกว่า

ลองถามเพื่อนๆ ผู้บริหารที่มีกฏแบบนี้ เขาตอบว่าผู้หญิงยังทำงานได้ดีไม่แพ้ผู้ชายหรอก แต่การมีหญิงชราในบริษัท ทำให้สมรรถนะในการทำงานของผู้ชายเสื่อมถอย

ประมาณเสียบรรยากาศ ว่างั้น ฮึ

2. อาชีพอิสระ เขาเกษียณกันเมื่ออายุเท่าไร

ขึ้นอยู่กับอาชีพ และความสามารถของคนๆ นั้นมากกว่า

บางอาชีพอย่างนักกฏหมาย ทนายความ ก็มักจะมากกว่า 60 ปี เพราะยิ่งนานก็ยิ่งมีประสบการณ์ที่มีคุณค่า บางอาชีพ เช่น นางแบบ ก็อาจมีอายุงานสั้นบน Cat Walk เพราะห้องเสื้อยังนิยมความสมบูรณ์แบบ แบบเดิมๆ อยู่ แต่ก็มีข้อยกเว้น เช่น คาร์เมน เดลล์ โอริไฟซ์ นางแบบลูกครึ่งอิตาลี / ฮังการี ที่อายุ 81 ปีแล้ว ยังเดินบนแคทวอล์คล่าสุดเมื่อ 10 กย นี้ ได้อย่างสวยงามมีเสน่ห์มากๆ

3. คนวัยเกษียณมีลักษณะทั่วไปอย่างไรที่คล้ายๆ กัน

มีเวลามากขึ้น ไม่มีรายได้ประจำ อาจยังคงมีรายได้เสริม ค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตทั่วไปลดลงเนื่องจากเดินทางน้อยลง แต่ด้านสุขภาพและสันทนาการต่างๆ กลับสูงขึ้น คนที่เตรียมตัว เตรียมใจพร้อมรับการเกษียณจะได้เปรียบ ไม่เหงา ไม่ฟุ้งซ่าน เพราะเตรียมใจก่อนหน้า และไม่ยึดติด

4. การเงินในวัยเกษียณ มีเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาต่างกับวัยอื่นๆ อย่างไรบ้าง

พื้นฐานการลงทุนมักจะต้องการความปลอดภัยมากกว่าช่วงอายุอื่น โดยต้องบริหารจัดการเงินที่มีให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิต

การจัดสรรการออมและการลงทุนของผู้เกษียณมีเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาแตกต่างจากวัยอื่น คือ

• ให้ความสำคัญกับเงินสดรับที่หดหาย และวางแผนใช้จ่ายจาก Cash ที่จะได้รับนี้ให้ได้ ก่อนจะไปใช้เงินก้อน

• คนเกษียณจะว่างและมีเงินก้อนในมือ คนว่างๆ กับเงินก้อน เมื่อมาพ้องเวลากัน มันก็เกิดเรื่องเศร้าได้ เช่น อยากให้รางวัลกับชีวิต จึงต้องประมาณให้ดีก่อนใช้ เพราะ ....

“ไม่มีอะไรน่าเศร้าเท่ากับตายแล้วยังใช้ไม่หมด ไม่มีอะไรน่าสลดเท่ากับใช้เงินหมดแล้วยังไม่ตาย”

• ตรวจสอบการวางแผนด้านสุขภาพ ว่ามีอะไรอยู่บ้าง ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ กองทุนประกันสังคม บัตรทอง ฯลฯ เพราะจะเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุด ห้ามเพิกเฉย

• ตรวจสอบหนี้สินที่คงเหลือ วางแผนหาวิธีจัดการให้ได้ ให้เร็วที่สุด อย่าปล่อยทิ้งไว้ถ้าไม่จำเป็น เพราะดอกเบี้ยมีแต่จะพอกพูน

• คำนวณให้มั่นใจว่าเงินที่มีอยู่และ จะหาได้ระหว่างเกษียณ (เช่น ประกันสังคมในกองทุนขราภาพ เงินบำนาญ เงินคืนจากประกันแบบบำนาญ เงินสะสมที่มีอยู่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข) จะเพียงพอต่อการใช้จ่ายในช่วงชีวิตที่เหลือ

• ต้องประเมินให้ได้ว่าเกษียณแล้ว ต้องการ cash flow เข้าประมาณเดือนละเท่าไรเพื่อใช้ดำรงชีวิตประจำวัน และนำเงินก้อนสะสมทั้งหมดที่มีอยู่ไปหาวิธีลงทุนที่มี cash flow บ้าง

5. หากคำนวณแล้วมีปัญหาด้านการเงิน คือไม่พอใช้ จะทำอย่างไรดี

• หากเป็นปัญหาสถานเบา

ปัญหาสถานเบาคือ เงินออมมีเหลือพอจะใช้จ่ายสำหรับช่วงชีวิตที่เหลืออยู่แบบพอดีๆ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไม่ได้ และไม่มีเหลือให้ลูกหลาน แต่ข้อดีก็คือ ไม่ต้องเศร้าว่าจะตายแล้วยังใช้ไม่หมด

- ให้ใช้เงินพอใช้แต่พอดีๆ กับ Cash Flow ที่จะเข้ามาจากเงินต้นที่เป็นเงินก้อนสะสม ให้หาวิธีลงทุนเงินก้อนนั้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นในความเสี่ยงที่รับได้ เช่นขยับจากฝากธนาคารไปกองทุนตราสารหนี้ กองทุนอสังหาฯ เป็นต้น

- เกษียณแล้วรายได้มักไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี ดังนั้น การบริหารภาษีส่วนนี้จะช่วยให้มีเงินกลับ คืนเยอะขึ้น เช่นขอคืนเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายของเงินปันผล เงินฝากประจำ พันธบัตร ฯลฯ

• หากเป็นปัญหาสถานหนัก

ปัญหาสถานหนักคือเงินออมไม่เหลือพอจะใช้จ่ายสำหรับช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ นั่นก็คือ เราต้องสลดเพราะใช้เงินหมดแล้วยังไม่ตาย และต้องสลดให้มากๆ ด้วย

- หาทางลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าที่พักอาศัย ค่าใช้จ่ายครอบครัว ลดโดยไปอยู่ร่วมกันกับญาติ ลูกหลาน เพื่อนที่รักใคร่ชอบพอกัน หรือย้ายไปอยู่ในจังหวัดที่มีค่าครองชีพต่ำ แล้วขายบ้านในเมืองนำเงินที่ได้มาลงทุนเป็นเงินก้อนไว้ตามความเหมาะสม

อย่าไปกลัวที่จะต้องย้าย คนต่างชาติทำกันมากค่ะ ไม่งั้นเขาคงไม่ย้ายมาอยู่ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอิสาน ภาคตะวันออก ของเราหรอกค่ะ

- สำรวจทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นและแปลงเป็นเงิน เช่น ของสะสมอย่าง กระเป๋า เสื้อผ้า เครื่องเสียง รถ (บางคนมีเป็นล้านๆ)

- หารายได้เสริม คนเกษียณจำนวนมากยังใช้ความสามารถสร้างรายได้ได้อยู่ เช่น ทำขนม ทำอาหาร เป็นที่ปรึกษาบริษัท เขียนบทความ สอนหนังสือ จัดดอกไม้ เลี้ยงเด็ก ฯลฯ

เรื่องเลี้ยงเด็กนี่อย่านอกคอกนะค้า ไม่ได้สนับสนุนให้เลี้ยงบเด็กเป็นยาขูกำลัง เพราะนั่นละตัวร้ายในการบั่นทอนอายุขัยเลย

6. สิ่งที่ต้องระมัดระวังให้มากในวัยเกษียณ

•การจ่ายเงินก้อนให้ลูกหลาน หรือ เพื่อนฝูง เช่น เพื่อนขอยืม ซื้อรถให้ลูกหลาน

•การสร้างอาชีพใหม่ที่ต้องลงทุนสูง หลายคนไปทำสวนทำไร่ ซื้อที่ลงทุน ปลูกบ้านในต่างจังหวัด แต่ลืมไปว่าตนเองไม่มีประสบการณ์ และหมดแรงแล้ว ทำสู้คนวัยหนุ่มสาวไม่ไหว การทำงานบริษัทเป็นลูกจ้างเขามาทั้งชีวิตแล้วผันไปเป็นนายจ้างเองอาจขาดทุนและกระทบเงินออมสำหรับวัยเกษียณได้

•การต้มตุ๋น หลอกลวง โดยเฉพาะเวลามีคนเข้ามาเยินยอความสำเร็จในอดีต ทำให้หลงเชื่อ ถูกหลอกให้จ่ายเงินได้ง่าย เรื่องนี้คนสูงอายุเป็นกัน

•จัดสรรเงินที่มีสะสมไว้ให้ดี แบ่งเป็นส่วนๆ ไม่ลงทุนเกินความเสี่ยงที่รับได้ การเล่นหุ้นเอง ซื้อกองทุนเองในส่วนเงินที่รับความเสี่ยงได้ช่วยให้มีงานทำ มีสังคม และลดปัญหาความจำ

7. พอร์ตลงทุนของคนวัยเกษียณควรเป็นอย่างไร

•ควรเป็นพอร์ตที่มีความเสี่ยงโดยรวมอยู่ในระดับต่ำหรือปานกลางถึงต่ำ เพื่อบรรเทาปัญหาหากเกิดความเสียหาย เงินออมควรเน้นที่การฝากธนาคาร ซื้อกองทุนตราสารหนี้ ซื้อหุ้นกู้ พันธบัตร และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

•การลงทุนในหุ้น ทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์ สามารถทำได้ในส่วนที่เป็นพอร์ตที่ต้องการผลตอบแทนสูง ซึ่งแบ่งสัดส่วนให้ชัดเจนออกมาจากพอร์ตการออมความเสี่ยงต่ำ

•เน้นการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนแบบสม่ำเสมอจากการลงทุน เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่าย ลดการดึงเงินต้นออกมาใช้ให้มากที่สุด เช่น เงินฝากธนาคาร ตราสารหนี้ต่างๆ เช่นหุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล กองทุนตราสารหนี้ที่จ่ายเงินคืนระหว่างการลงทุน กองทุนหุ้นที่จ่ายปันผล กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จ่ายปันผลสม่ำเสมอ เป็นต้น

8. ตัวอย่างสัดส่วนการลงทุนที่แนะนำสำหรับวัยเกษียณ

- หุ้นปันผล กองทุนหุ้นที่จ่ายปันผล 10-30%

- กองทุนทองคำ ทองคำ 5-15%

- กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 10-20%

- หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล กองทุนตราสารหนี้ 50-75%

คำเตือน ข้อแนะนำใดใดนี้ เหมือนเสื้อโหล จึงอาจไม่ได้พอดีตัวสำหรับทุกคน

โปรดพิจารณาแล้วตัดสินใจให้เหมาะกับตนเอง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประสบการณ์จริงคนขึ้นศาลคดี Easybuy

ประสบการณ์ไปศาลคดี บัตรเครดิต UOB

แนวทางรับมือเมื่อได้รับหมายศาลแบบบ้านๆ โดยคุณแก้วจ๋า ชมรมหนี้บัตรเครดิต