หากลูกหนี้ตาย เจ้าหนี้จะต้องฟ้องร้องอย่างไร?

เติม...เรื่องการฟ้องลูกหนี้ที่เสียชีวิต
โดยพี่นกกระจอกเทศ  ที่เคยโพสต์ไว้เมื่อ 10 ส.ค. 2011, 9:22
(หากลูกหนี้ตาย เจ้าหนี้จะต้องฟ้องร้องอย่างไร?)

อายุความในการฟ้องคดีนั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ที่ทุกคนจะต้องรู้ เพราะหากพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายที่โจทก์มีสิทธิจะฟ้องคดีแล้ว หากนำมูลคดีนั้นไปยื่นฟ้องต่อศาล เมื่อจำเลยยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความฟ้องคดีขึ้นต่อสู้ และตามพยานหลักฐานฟังได้ว่าคดีนั้นขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว ศาลก็จะพิพากษายกฟ้อง เป็นเหตุให้ลูกหนี้หรือทายาทของลูกหนี้หลุดพ้นจากภาระหนี้สินนั้นไปได้

ในกรณีที่ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดอายุความในการฟ้องร้องคดีไว้ ใน มาตรา ๑๗๕๔ วรรค ๓ ว่า

ภายใต้บังคับแห่ง มาตรา ๑๙๓/๒๗ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่ง ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อนนั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย

ดังนั้นจากตัวบทกฎหมายข้างต้น จึงอธิบายให้เข้าใจง่ายๆได้ว่า เมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตายไปแล้ว เจ้าหนี้จะต้องเรียกร้องหรือฟ้องร้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของลูกหนี้ผู้ตาย ภายในกำหนด ๑ ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้รู้ว่าลูกหนี้ถึงแก่ความตาย ถึงแม้หนี้จะยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ตาม มิฉะนั้น คดีจะขาดอายุความฟ้องร้อง



การฟ้องคดีนั้น ถามว่าเมื่อลูกหนี้ตายแล้ว เราจะฟ้องใคร คำตอบก็คือ ต้องฟ้องทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของลูกหนี้ หรือผู้จัดการมรดกของลูกหนี้เป็นจำเลย ส่วนในการรับผิดชอบในหนี้ สินลูกหนี้ต่อเจ้าหนี้ ทายาทหรือผู้จัดการมรดกที่ถูกฟ้องคดี จะต้องรับผิดชอบเพียงแต่ทรัพย์สินในกองมรดกที่ตนมีสิทธิได้รับเท่านั้น

เพื่อให้สมาชิกอ่านเข้าใจยิ่งขึ้น ผมจะขอยกเอาคำพิพากษาฎีกาบางเรื่อง ที่เคยตัดสินคดีเกี่ยวกับเรื่องที่ผมได้กล่าวมาข้างต้น ให้ท่านได้อ่านกันนะครับ

ฎีกาที่ ๒๐๙๑/๒๕๑๔ เจ้าหนี้มิได้ฟ้องทายาทของลูกหนี้ภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้ทราบถึงการตายของลูกหนี้ หนี้จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๗๕๔ วรรค ๓ ผู้ค้ำประกันย่อมยกอายุความขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ ตาม มาตรา ๖๙๔

ฎีกาที่ ๑๓๔๓/๒๕๒๐ หนี้ถึงกำหนดและค้างชำระแล้ว ผู้ค้ำประกันตาย ทายาทต้องรับผิดไม่เกินมรดกที่ตกทอดมา อายุความฟ้องทายาท ๑ ปี ตามมาตรา ๑๗๕๔ นับแต่เจ้าหนี้รู้ว่าผู้ค้ำประกันตาย

ฎีกาที่ ๓๙๙๔/๒๕๔๐ แม้หนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ ลูกหนี้ทำไว้กับโจทก์ ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่ลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตายไปก่อน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ภายใน ๑ ปี นับแต่โจทก์รู้ถึงความตายของลูกหนี้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๗๕๔ วรรค ๓ เพราะสิทธิเรียกร้องของจทก์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตาย หากรอจนหนี้ถึงกำหนดชำระ อายุความ ๑ ปี อาจจะล่วงพ้นไปแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องทายาทของลูกหนี้ เพื่อบังคับให้ชำระหนี้ได้ แม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

ในทางกฎหมาย เกี่ยวกับเรื่องอายุความฟ้องร้องคดีนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่หากโจทก์นำมูลหนี้ที่ขาดอายุความแล้วมาฟ้องร้อง หากฝ่ายจำเลยไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างเอา"อายุความ"มาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้

ข้อยกเว้นให้เจ้าหนี้ฟ้องเกิน ๑ ปีได้

ดังที่บัญญัติไว้ใน ปปพ. มาตรา ๑๗๕๔ วรรค ๓ ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๒๗ ซึ่งมาตรา ๑๙๓/๒๗ บัญญัติว่า ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระค่าดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปนั้นไม่ได้ ดังนั้น เจ้าหนี้ตามมาตราดังกล่าว จึงสามารถบังคับชำระหนี้จากทรัพย์ที่จำนอง จำนำ หรือมีสิทธิยึดหน่วง อันเป็นมรดกนั้นได้ แม้ล่วงพ้นอายุความฟ้องคดีมรดกแล้วก็ตาม

อีกกรณีหนึ่งที่เจ้าหนี้ฟ้องเกิน ๑ ปีได้ ก็คือ ในกรณีที่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกไปรับสภาพหนี้ภายในอายุความมรดก จึงทำให้อายุความสะดุดลง โดยระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้น ไม่นับเข้าอยู่ในอายุความ อายุความสะดุดหยุดลงเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น เจ้าหนี้จึงฟ้องบังคับชำระหนี้จากกองมรดกได้ แม้ล่วงพ้นอายุความมรดก

ส่วนคดีที่เจ้ามรดกเป็นเจ้าหนี้ มิได้กำหนดอายุความไว้เป็นพิเศษแต่อย่างใด จึงต้องใช้อายุความเฉพาะแต่เกี่ยวกับมูลหนี้ที่จะฟ้อง ดังนั้นเจ้าหนี้จึงสามารถฟ้องลูกหนี้ได้ แม้เจ้ามรดกตายเกินหนึ่งปีแล้วก็ตาม

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประสบการณ์จริงคนขึ้นศาลคดี Easybuy

ประสบการณ์ไปศาลคดี บัตรเครดิต UOB

แนวทางรับมือเมื่อได้รับหมายศาลแบบบ้านๆ โดยคุณแก้วจ๋า ชมรมหนี้บัตรเครดิต