มาจัดการเงินทองหลังเกษียณกันเถอะ

มาจัดการเงินทองหลังเกษียณกันเถอะ

13 สิงหาคม 2556
ห้องความรู้บัวหลวง (บทความ)
button buy online at bangkok bank website
          ถ้าจะสรุปลักษณะร่วมกันของคนวัยหลังเกษียณ ก็คือ วัยที่มีรายได้น้อยลง ค่าใช้จ่ายตามการใช้ชีวิตเดิมๆ น้อยลง แต่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพกลับมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเป็นอย่างนี้ แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนมีโอกาสสูงมากที่จะเกินกว่ารายได้รายเดือน ยิ่งสูงวัยมากขึ้น รายได้ก็หดหายลงไปเรื่อยๆ เช่นกัน อย่างเก่งก็เหลือแต่เงินบำนาญจากราชการ ประกันชีวิตแบบบำนาญ และบำนาญจากประกันสังคมไม่กี่ร้อยบาท (ซึ่งถึงจะยังมีบำนาญ แต่ก็มีค่าน้อยลงตามภาวะเงินเฟ้ออยู่ดี)

          ดังนั้น แผนการจัดการหนี้สินเงินทองที่ชาญฉลาด ที่อดทนเก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิตจะมีความสำคัญอย่างที่สุด โดยเฉพาะคนโสด คนแต่งงานแต่ไม่มีลูก หรือแม้แต่คนที่มีลูก แต่เขาไม่เลี้ยง!!

ทำอย่างไร ให้เงินที่มีเพียงพอต่อการใช้ไปจนลมหายใจสุดท้าย
ทำอย่างไร กับหนี้สินก้อนใหญ่ที่ยังคงเหลืออยู่
ทำอย่างไร ให้เงินออมที่มียังคงงอกเงย ให้ผลตอบแทน
ทำอย่างไร ให้เงินออมไม่ต้องไปลงทุนในสิ่งที่เสี่ยงจนเกินไป

          มีเรื่องที่ต้องพิจารณา สำหรับการวางแผนจัดการเงินทองวัยหลังเกษียณ คือ
  • ให้ความสำคัญกับกระแสเงินสดรับที่หดหาย(ลดลง) และการวางแผนการใช้จ่ายสำหรับช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ให้ได้ก่อนใช้เงินก้อน

  • คนวัยเกษียณจะว่างและมีเงินก้อนในมือ จะอยากใช้จ่ายอยากให้รางวัลกับชีวิต ต้องประมาณให้ดีก่อนใช้ ไม่เช่นนั้นเงินอาจหมดได้

  • ตรวจสอบสวัสดิการด้านสุขภาพของตัวเองว่ามีอะไรอยู่บ้าง สิทธิข้าราชการ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ กองทุนประกันสังคม บัตรทอง ฯลฯ เพราะจะเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุดของคนวัยนี้  และถือเป็นเรื่องสำคัญที่ห้ามละเลยโดยเด็ดขาด
  • ตรวจสอบหนี้สินที่คงเหลือ วางแผนหาวิธีจัดการให้ได้ ให้เร็วที่สุด อย่าปล่อยทิ้งไว้ถ้าไม่จำเป็น เพราะดอกเบี้ยมีแต่พอกพูน

  • คำนวณให้มั่นใจว่าเงินที่มีอยู่และจะได้ระหว่างเกษียณ เช่น บำนาญ เงินคืนจากประกันแบบบำนาญ เพียงพอต่อการใช้จ่ายในช่วงชีวิตที่เหลือหรือไม่

          หากคำนวณแล้วมีปัญหาด้านการเงิน

          ปัญหาสถานเบา คือ เงินพอใช้แต่พอดีๆ ไม่ค่อยเหลือเผื่อ ขอให้ลองพิจารณาหาวิธีลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น ในความเสี่ยงที่ยอมรับได้อยู่ เช่นขยับจากฝากธนาคารไปกองทุนตราสารหนี้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนผสมที่เน้นตราสารหนี้
คนเกษียณแล้วรายได้มักไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ดังนั้นการบริหารภาษีส่วนนี้ก็จะช่วยให้มีเงินกลับคืนเยอะขึ้น เช่นขอคืน เงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายของเงินปันผล เงินฝากประจำ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ เป็นต้น

          ปัญหาสถานหนัก คือ เงินออมไม่พอเหลือใช้จ่ายสำหรับช่วยชีวิตที่เหลืออยู่ ก็จำเป็นต้อง
  • หาทางลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าที่พักอาศัย ค่าใช้จ่ายครอบครัว ลดโดยไปอยู่ร่วมกันกับญาติ ลูกหลาน
  • สำรวจทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นและแปลงเป็นเงิน เช่น ของสะสมของสาวๆ เช่นกระเป๋า เสื้อผ้า (บางคนมีเป็นล้าน) 
  • หารายได้เสริม ผู้เกษียณจำนวนมากยังใช้ความสามารถสร้างรายได้ ได้อยู่ เช่น ทำขนม อาหาร เป็นที่ปรึกษาบริษัท ฯลฯ

          แล้วสิ่งที่ต้องระมัดระวังล่ะ
  • การจ่ายเงินก้อนให้ลูกหลาน หรือ เพื่อนฝูง เช่น เพื่อนขอยืม  ซื้อรถให้ลูกหลาน ต้องมั่นใจว่าไม่กระทบต่อเงินออมเพื่อดำรงชีพหลังเกษียณของเรา
  • การสร้างอาชีพใหม่ที่ต้องลงทุนสูง หลายคนมีความฝันเช่น ไปทำสวนทำไร่ ซื้อที่ลงทุน ปลูกบ้านในต่างจังหวัด แต่ลืมไปว่าตนเองไม่มีประสบการณ์มาก่อน ทำงานบริษัทมาทั้งชีวิต อาจขาดทุนและกระทบเงินออมสำหรับวัยเกษียณได้
  • การต้มตุ๋น หลอกลวง โดยเฉพาะเวลามีคนเข้ามาเยินยอความสำเร็จในอดีต ทำให้หลงเชื่อ ถูกหลอกให้จ่ายเงินได้ง่าย เพราะมารเหล่านี้มักพุ่งเป้าหมายที่คนสูงอายุเพราะมีเงินก้อนในมือ และไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมโจร

          ส่วนการออมการลงทุนในวัยนี้ ต้องจัดสรรเงินให้ดี แบ่งเงินออกเป็นส่วนๆ ต้องไม่ลงทุนเกินความเสี่ยงที่รับได้ และสำหรับคนที่รับความเสี่ยงได้ การเล่นหุ้นเอง ซื้อกองทุนเองในเงินที่จัดสรรแล้ว ทำให้คนสูงอายุมีงานทำ มีสังคม ฝึกคิดเลข ฝึกสมอง เขาว่าช่วยลดปัญหาความจำเสื่อมได้

          ส่วนพอร์ตการออมการลงทุนของคนวัยเกษียณ มีหลักการสำคัญที่ใช้ได้ทั่วไป คือ

          ควรเป็นพอร์ตที่มีความเสี่ยงโดยรวมอยู่ในระดับต่ำหรือปานกลางถึงต่ำ เพื่อบรรเทาปัญหาหากพอร์ตการลงทุนเกิดความเสียหาย

          การลงทุนสำหรับวัยหลังเกษียณ ควรเน้นการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนแบบสม่ำเสมอจากการลงทุนเพื่อนำมาเป็นค่า ใช้จ่าย ลดการดึงเงินต้นออกมาใช้ให้มากที่สุด เช่น เงินฝากธนาคาร ตราสารหนี้ต่างๆ เช่นหุ้นกู้  พันธบัตรรัฐบาล กองทุนตราสารหนี้ที่จ่ายเงินคืนระหว่างการลงทุน กองทุนหุ้นที่จ่ายปันผล กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จ่ายปันผลสม่ำเสมอ เป็นต้น

          พอร์ตเงินออมส่วนใหญ่ควรเน้นที่การฝากธนาคาร ซื้อกองทุนตราสารหนี้ ซื้อหุ้นกู้ พันธบัตร ที่มีความเสี่ยงต่ำ ส่วนการลงทุนในหุ้น ทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์ และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ สามารถทำได้ในส่วนที่เป็นพอร์ตที่ต้องการผลตอบแทนสูงขึ้น ซึ่งแบ่งสัดส่วนให้ชัดเจนออกมาจากพอร์ตการออมความเสี่ยงต่ำ โดยตัวอย่างสัดส่วนการลงทุนที่แนะนำสำหรับวัยเกษียณ เช่น เงินฝาก หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล กองทุนตราสารหนี้ 50-75% หุ้น กองทุนหุ้น 10-30% ทองคำ กองทุนทองคำ 5-15% และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 10-20% และที่สำคัญการลงทุนนั้นต้องสะดวกและมีสภาพคล่องในการไถ่ถอนมาใช้จ่ายด้วย

          สำหรับการจัดสรรเอง การกำหนดสัดส่วนลงทุน และทยอยซื้อขายเพื่อรับเงินมาใช้จ่ายรายเดือน ที่เป็นปัญหายุ่งยากของผู้สูงวัยหลายคน  กองทุนบัวหลวง ก็มี กองทุน B Senior ที่จะเสนอขาย IPO 7-14 สิงหาคมนี้ กองทุนนี้มีนโยบายลงทุนตราสารหนี้ในสัดส่วนที่สูงไม่ต่ำกว่า 70% เพื่อเน้นความมั่นคง และมีสัดส่วนของการลงทุนในหุ้น ทองคำ กองทุนที่เน้นอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ไม่เกิน 30% เพื่อเพิ่มโอกาสเพิ่มผลตอบแทนของกองทุนตามจังหวะที่เหมาะสม รวมถึงกองทุนยังมีให้เลือกบริการขายคืนเป็นประจำรายเดือนไปใช้จ่าย ก็น่าจะช่วยตอบโจทย์ปัญหายุ่งยากของหนุ่มสาวผู้สูงวัยเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

เสกสรร โตวิวัฒน์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประสบการณ์จริงคนขึ้นศาลคดี Easybuy

แนวทางรับมือเมื่อได้รับหมายศาลแบบบ้านๆ โดยคุณแก้วจ๋า ชมรมหนี้บัตรเครดิต

หมายศาลจะถุกส่งไปที่ไหน