กฏเกณฑ์ การอายัด(ยึด)ทรัพย์สินภายในบ้านของจำเลย(ลูกหนี้)

กฏเกณฑ์ การอายัด(ยึด)ทรัพย์สินภายในบ้านของจำเลย(ลูกหนี้)



- เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ทำการตรวจสอบสำเนาทะเบียนบ้านของลูกหนี้แล้ว ปรากฎว่าลูกหนี้เป็น “เจ้าบ้าน”

จพค.จะไปยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามทะเบียนบ้านหลังนั้นๆ หากไปแล้วพบว่าบ้านหลังนั้น ถูกปิดประตู หรือถูก Lock อยู่ จพค.สามารถใช้อำนาจในการเปิดบ้าน เพื่อทำการยึดทรัพย์ตามที่เจ้าหนี้นำชี้ได้ เนื่องจากกฏหมาย ระบุไว้ว่า หากผู้ใดที่มีฐานะเป็น“เจ้าบ้าน”ก็ให้สันนิษฐานว่าทรัพย์สินใดๆที่อยู่ใน บ้านของเจ้าบ้าน เป็นทรัพย์ของเจ้าบ้านเอาไว้ก่อนเป็นหลัก ดังนั้นหากลูกหนี้ตามคำพิพากษามีฐานะเป็น“เจ้าบ้าน”หลังใด ก็สามารถยึดทรัพย์ที่อยู่ภายในบ้านหลังนั้นได้ ถึงแม้นว่าจะถูกปิดประตูอยู่ก็ตาม
โดยอาศัยขั้นตอนให้เจ้าหนี้แถลงความรับผิดชอบ เชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเป็นสักขีพยาน , ตามช่างกุญแจมา ไข/งัด/หรือทุบทำลาย วัสดุที่ใช้ Lock บ้าน , มีการบันทึกภาพถ่ายหรือวีดีโอไว้เป็นหลักฐาน , ลงบันทึกประจำวัน




- เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ตรวจสอบสำเนาทะเบียนบ้านของลูกหนี้แล้ว ปรากฎว่าลูกหนี้เป็นแค่ “ผู้อาศัย”

จพค.จะไปยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามทะเบียนบ้านหลังนั้นๆ เพราะกฎหมายสันนิษฐานว่า หากลูกหนี้อาศัยอยู่ที่ไหน ทรัพย์สินของลูกหนี้ก็ควรอยู่กับลูกหนี้ที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นด้วย แต่ถ้าหากไปแล้วพบว่าบ้านหลังนั้น ถูกปิดประตูหรือ ถูก Lock อยู่ เจ้าพนักงานบังคับคดีจะไม่สามารถ ไข/งัด/หรือทุบทำลาย สิ่งที่ใช้ Lock บ้าน ในการเปิดบ้านเพื่อทำการยึดทรัพย์ ไม่เหมือน กับกรณีที่ลูกหนี้เป็นเจ้าบ้าน เพราะบุคคลที่อยู่ในฐานะ“เจ้าบ้าน” ก็ได้รับการสันนิษฐานตามกฎหมายว่า เจ้าบ้านก็เป็นเจ้าของทรัพย์สินภายในบ้านเช่นกัน และมีน้ำหนักหลักที่ดีกว่าทางฝ่ายลูกหนี้ ที่เป็นฐานะผู้อาศัยภายในบ้าน

ในกรณีนี้ หาก จพค.จะทำการเข้าไปตรวจสอบหรือยึดทรัพย์ภายในบ้านหลังนั้น จะต้องได้รับการ“อนุญาต”จากผู้ที่เป็น“เจ้าบ้าน”เสียก่อน เพราะผู้ที่เป็น“เจ้าบ้าน”มิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา แถมยังมีน้ำหนักแห่งความเป็นเจ้าของทรัพย์ภายในบ้าน สูงมากกว่าผู้อาศัย

ดังนั้น...
หากเจ้าบ้านอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ต่างๆที่เกี่ยวข้อง เข้าไปในตัวบ้านได้ แล้วหลังจากนั้นมีการโต้แย้งจากทางเจ้าหนี้ว่า ทรัพย์ที่ตรวจพบภายในบ้าน เป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งมีหลักฐานมาแสดงยืนยัน โดยผู้ที่อาศัยอยู่ภายในบ้านไม่มีหลักฐานโต้แย้งกลับ ก็ให้ทำการยึดทรัพย์นั้นๆ

แต่ถ้าหาก“เจ้าบ้าน”ออกมาแสดงตน พร้อมกับหลักฐานความเป็น“เจ้าบ้าน”ต่อเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ณ.ที่หน้าบ้านของตนเอง พร้อมกับยืนยันว่า ทรัพย์สินทุกอย่างภายในบ้าน เป็นทรัพย์ของเจ้าบ้านแต่เพียงผู้เดียว...“ผู้อาศัย”(ลูกหนี้)ไม่ได้เป็น เจ้าของทรัพย์ภายในบ้านแต่อย่างใด แค่มาอาศัยอยู่เท่านั้น
ให้ถือว่า“เจ้าบ้าน”เป็นเจ้าของทรัพย์ดังกล่าวตามที่แจ้ง และให้ เจ้าพนักงานบังคับคดี “งดยึด” แล้วทำรายงานต่อไปยังศาล เพื่อปลดเปลื้องความรับผิดชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 283 ต่อไป

***หมายเหตุ***
กรณีผู้ที่เป็น“เจ้าบ้าน”(ที่มิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา) ยังไม่ได้อนุญาตให้บุคคลภายนอกอื่นใดเข้ามาในตัวบ้าน หากบุคคลภายนอกอื่นใดเข้าไปภายในอาณาบริเวณพื้นที่ครอบครองของ“เจ้าบ้าน” โดยที่ยังไม่ได้รับการ“อนุญาต” อาจมีความผิดในข้อหา“บุกรุกเคหสถาน”ได้






กรณีที่ได้เข้าไปตรวจสอบยึดทรัพย์สินภายใน บ้านแล้ว ถ้าหากลูกหนี้มีทรัพย์สินจำพวก เครื่องนุ่มห่มหลับนอน เครื่องใช้ในครัวเรือน หรือเครื่องใช้สอยส่วนตัว โดยประมาณราคารวมกันไม่เกิน 50,000 .- บาท จะถูกจัดว่าเป็นทรัพย์ที่ไม่อยู่ภายใต้การบังคับคดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดี“ไม่ยึด” พร้อมกับรายงานศาลขอปลดเปลื้องความรับผิด ป.วิแพ่ง ม. 283

สรุปความก็คือ เครื่องใช้สอยภายในบ้าน ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันโดยปกติ ดังนี้

- อุปกรณ์เครื่องนอน เช่น ที่นอน , หมอน , มุ้ง , ผ้าห่ม

- อุปกรณ์เครื่องครัว เช่น ถ้วย , จาน , ชาม , ช้อน , กระทะ , กะละมัง , ขัน , หม้อ , เตา

- อาภรณ์สวมใส่ เช่น เสื้อ , กางเกง , กระโปรง , ถุงเท้า , รองเท้า , กกน.

- อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตทั่วไปที่ควรมี เช่น ถังแก๊สสำหรับใช้ทำอาหารในครัว , หม้อหุงข้าวไฟฟ้าใบเล็กๆ , พัดลมตั้งโต๊ะเก่าๆเอาไว้ใช้คลายร้อน , โทรทัศน์รุ่นเก่าขนาดเล็กๆ + วิทยุเครื่องเล็กๆ เอาไว้ใช้ติดตามฟังข่าวสาร , ตู้เย็นเก่าๆขนาดเล็กๆ เอาไว้ใช่แช่เย็นถนอมอาหาร…เป็นต้น

ตัวอย่างต่างๆเหล่านี้ ถ้าเอาทั้งหมดมากองรวมกัน แล้วประเมินราคารวมกันแล้วไม่เกิน 50,000.-บาท...ก็ไม่ยึด (แต่อย่าลืมนะครับ ว่าการประเมินราคาดังกล่าว จะกระทำโดย จพค.เป็นผู้ประเมิน ดังนั้น อย่าหัวหมอโดยการประเมินราคาเข้าข้างตัวเอง)




กรณีที่เจ้าหนี้ขอยึดเครื่องมือหรือเครื่อง ใช้ที่จำเป็น ในการเลี้ยงชีพหรือประกอบวิชาชีพ ราคารวมกันประมาณไม่เกิน 100,000.- บาท เป็นทรัพย์สินที่ไม่อยู่ภายใต้การบังคับคดีให้ เจ้าพนักงานบังคับคดี“ไม่ยึด” ตามที่เจ้าหนี้นำชี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีกลับรายงานศาลปลดเปลื้องความรับผิด ป.วิแพ่ง ม. 283

สรุปความก็คือ อุปกรณ์/เครื่องมือ ของลูกหนี้ที่จำเป็นต้องมี เพราะเป็นอาชีพของลูกหนี้มาแต่ดั้งเดิม หากมีมูลค่าไม่เกิน 100,000.-บาท ห้ามยึด เช่น

- สว่านไฟฟ้า , ไขควง , ประแจ , คีม , เครื่องเจียรตัดเหล็ก , ตู้เชื่อมไฟฟ้า(ตู้อ๊อกเหล็ก) , กล่องเครื่องมือช่าง
เครื่องมือเหล่านี้ หากรวมกันแล้วไม่เกิน 100,000.-บาท ก็ไม่ต้องยึด...ถ้าลูกหนี้มีอาชีพเป็น ช่างซ่อมเครื่องยนต์ , ช่างซ่อมรถยนต์ หรือเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือต่างๆเหล่านี้ในการประกอบอาชีพ

- เครื่องถ่ายเอกสารเก่าๆเพียงไม่กี่เครื่อง หากรวมกันแล้วไม่เกิน 100,000.-บาท ก็ไม่ต้องยึด...ถ้าลูกหนี้มีอาชีพรับจ้างถ่ายเอกสาร

- เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงคอมฯ หากรวมกันแล้วไม่เกิน 100,000.-บาท ก็ไม่ต้องยึด...ถ้าลูกหนี้มีอาชีพรับจ้างเขียนโปรแกรมขาย , รับแปลและพิมพ์งานเอกสาร เป็นต้น




อุปกรณ์/เครื่องมือ ของลูกหนี้ ที่จำเป็นต้องมีเพื่อการดำรงชีวิตลูกหนี้ (เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะเกี่ยวข้องกับความอันตราย หรือความ เป็น-ตาย ของลูกหนี้) ห้ามยึด ไม่ว่าจะมีมูลค่าสูงแค่ไหนก็ตาม เช่น เครื่องช่วยหายใจ , เครื่องฟอกไตประจำบ้าน , เครื่องช่วยชีวิต , เครื่องวัดชีพจร , เครื่องวัดความดัน , แขนเทียม , ขาเทียม , รถเข็นสำหรับผู้พิการ...เป็นต้น



คำถาม-คำตอบ ส่งท้าย

ถาม : หากกรณีลูกบ้านเป็นลูกหนี้ แต่ลูกหนี้เป็นคู่สมรส(สามี/ภรรยา)กับเจ้าบ้าน โดยจดทะเบียนสมรสกันถูกต้อง ตามกฏหมายแล้วสามารถยึดทรัพย์สินภายในบ้านได้หรือไม่ ถ้าหากเจ้าบ้าน(สามี/ภรรยา)ไม่ยอมให้ยึด โดยอ้างว่าเจ้าบ้านเป็นผู้ที่ซื้อหาทรัพย์มาเอง

ตอบ : ถ้าเป็นกรณีที่เป็นสามีภรรยาโดยถูกต้องตามกฎหมาย ให้ถือว่าทรัพย์สินภายในบ้านเป็นสินสมรส โจทก์มีสิทธิ์นำชี้แถลงยืนยันต่อ จพค. พร้อมนำส่งเอกสารประกอบการยึดทรัพย์ได้ หากทรัพย์ภายในบ้านเป็นสินสมรสจริง



*** หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถไปอ่านได้จากในเวปไซด์ของกรมบังคับคดี ***
test.led.go.th/faqn/SARA.ASP?nomod=c
.
อนณสุข ปรมาลาภา

ความไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ
 



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประสบการณ์จริงคนขึ้นศาลคดี Easybuy

ประสบการณ์ไปศาลคดี บัตรเครดิต UOB

แนวทางรับมือเมื่อได้รับหมายศาลแบบบ้านๆ โดยคุณแก้วจ๋า ชมรมหนี้บัตรเครดิต