สรุป The Psychology of Money (12 Aug 21)

 สรุป The Psychology of Money (12 Aug 21)

Morgan Housel
"A genius is the man who can do the average thing when everyone else around him us losing his mind"
หนังสือเล่มนี้ น่าจะเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการปรับ mindset ให้สามารถอยู่กับการลงทุนได้นานขึ้น สนใจ Noise ให้น้อยลง ตั้งเป้าหมายด้านความมั่งคั่งได้เหมาะกับตัวเองมากขึ้น
ไม่ใช่หนังสือเทคนิคการลงทุนที่พิสดารอะไรนัก ผู้เขียนแค่พยายามอธิบายว่าทำไม คนเราถึงมองข้ามเรื่องง่าย ๆ (การอดทนถือ ลงทุนระยะยาว) และไปเน้นทำแต่เรื่องยาก ๆ (การเก็งกำไรระยะสั้น)
ไม่ใช่สรุปเนื้อทั้งหมด แค่ประเด็นที่ผมคิดว่าพอจะมีประโยชน์ เผื่อท่านสนใจจะไปอ่านเล่มเต็ม เพิ่มเติมครับ หวังว่าจะพอเป็นประโยชน์
เริ่มกันเลย ทยอยไล่อ่านไปทีละนิดก็ได้ครับ
1.
ไม่มีประโยชน์จะเอาของที่มีอยู่และจำเป็น ไปเสี่ยงเพื่อของที่ยังไม่มีและไม่จำเป็น
2.
ข่าวดี คนธรรมดาที่ไม่ต้องเรียนเกี่ยวกับการเงิน ก็สามารถมั่งคั่งได้ แค่ฝึกฝนพฤติกรรมไม่กี่อย่าง (ความอดทน)
3.
เราประพฤติตัวอย่างไร สำคัญกว่า เรารู้อะไร
4.
ประวัติศาสตร์ ไม่เคยซ้ำรอยตัวมันเอง แต่มนุษย์ต่างหากที่ยังทำผิดพลาดซ้ำ ๆ พฤติกรรมเดิม ๆ
5.
มนุษย์มองโลกด้วยมุมมองที่ต่างกัน เราไม่สามารถรู้ได้จริง ๆ ว่า คนในแต่ละช่วงของประวัติศาสตร์ รู้สึก นึกคิดอย่างไร เพราะเราไม่ได้อยู่ในช่วงเวลานั้น มีประสบการณ์ตรงนั้น เราคิดว่าเรารู้ แต่จริง ๆ แล้วเรารู้เพียงแค่เศษเสี้ยว หรือทำได้เพียงแค่ เดา
6.
การวิจัยค้นพบว่า คนจะชอบหุ้นซิ่ง หรือหุ้นเซฟ เกิดจากคนๆ นั้น เกิดเมื่อไหร่ ประสบการณ์ลงทุน แรก ๆ อยู่ใน ช่วงหุ้นขึ้น หรือลง ถ้าอยู่ในช่วงที่เลือกตัวไหนก็ถูก ชีวิตที่เหลือก็จะรับความเสี่ยงได้มาก
7.
ไม่แปลกที่ทุกคนอาจจะยังไม่เห็นความสำคัญของแผนเกษียณ เพราะแนวความคิดเรื่องการวางแผนเกษียณเพิ่งเกิดมาไม่นาน เพียง (1978) ก่อนหน้านั้น คือไม่มี คือทำงานกันจนแก่ตายไปข้าง ถ้าเทียบเป็นวัยของคนแล้ว ต้องถือว่า เรื่องนี้ก็ยังเป็นเรื่องใหม่มาก ๆ สำหรับมนุษย์ (สุนัขยังอยู่มาแล้วตั้ง หมื่นปี จะเอาอะไรก็เรื่องที่เราพึ่งคิดกันได้เมื่อ 40 ปีที่แล้ว)
8.
โลกเรามีความซับซ้อนเกินกว่าจะที่ยอมให้ผลของการกระทำใด ๆ กำหนดผลลัพท์ของมันได้ 100% โลกเปรียบเหมือนเครื่องจักรที่มีชิ้นส่วน 7 พันล้านชิ้น (คน) ที่เคลื่อนไหวอิสระจากกัน ความบังเอิญของหน่วยใด ๆ เพียงนิดเดียว อาจส่งอิทธิพลต่อผลลัพท์มากกว่า ความพยายาม หรือการตัดสินใจใด ๆ ของเรา
9.
สมองคน ชอบคำตอบที่เข้าใจง่าย ชอบแบบฟันธง ไม่ชอบความเบลอ ๆ กลาง ๆ
10.
มีบางอย่างที่อะไรก็แลกไม่ได้ ไม่ว่าจะมีโอกาสกำไรมากแค่ไหน ได้แก่ ความสุข อิสรภาพ ชื่อเสียง เพื่อนและครอบครัว การเป็นคนที่ได้รับความรัก
11.
ระบบทุนนิยม มีความเชี่ยวชาญ สองเรื่อง 1. คือสร้างความมั่งคั่ง กับ 2.สร้างความอิจฉา ให้กับคน
12.
ทักษะที่ยากที่สุดในการบริหารเงิน คือ การหัดอยู่เฉยๆ ซะบ้าง
13.
คำถามว่า ยุคน้ำแข็ง (Ice Age) เกิดขึ้นได้อย่างไร มันไม่ได้อยู่ที่จำนวนหิมะตกหนักไหม ในแต่ละปี แต่มันอยู่ที่ว่าหิมะเหลืออยู่แค่ไหน ในแต่ละปี การเปลี่ยนแปลงทีละนิด นำไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่เสมอ
14.
การเติบโตแบบ Exponential ไม่ค่อยสอดคล้องกับหลักการคิดสมองมนุษย์เท่าไหร่ คือ มันนึกไม่ออก คิดในใจยาก มันเลขยกกำลัง คนเลยหาทางออกอื่นที่ง่ายกว่า (เทรดดิ้ง เข้า ๆ ออก ๆ มากกว่ารอ compounding effect)
15.
การลงทุนที่ดีจึงไม่ใช่ ผลตอบแทนดีสุด เพียงชั่วคราว แต่มันคือผลตอบแทนที่ดีพอใช้ แต่อยู่ได้นาน สม่ำเสมอ เพื่อไปสู่พลังของผลตอบแทนทบต้น
16.
การวางแผนล่วงหน้า ยิ่งพยายามให้มันเป๊ะมากเท่าไหร่ โอกาสผิดพลาดก็จะมากเท่านั้น (ปัจจัยละเอียดเกิน เยอะเกิน ผิดสมมติฐานง่าย)
17.
ไม่ได้บอกให้มองโลกในแง่ร้าย ตอนวางแผนโลกสวยได้ แต่ต้องระมัดระวังโอกาสไม่ถึงเป้าอยู่เสมอ
18.
โลกเรามีวิกฤตเกิดขึ้นมากมาย แต่สุดท้ายหุ้นก็ขึ้น
19.
คำแนะนำส่วนใหญ่ของนักวิเคราะห์ คือเน้นที่ วันนี้ พรุ่งนี้ เดี๋ยวนี้ แต่ถ้าเทียบกับระยะเวลาลงทุนทั้งชีวิตมันสั้นมาก แทบไม่มีผลอะไรเลย
20.
สุดยอดวิชาคือ นักลงทุนที่สร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้ ในยามที่คนอื่นตื่นตระหนก
21.
ทุกความสำเร็จมีค่าใช้จ่าย มีต้นทุนมหาศาลเสมอ เราอาจจะเห็นเพียงแค่ตอนที่มันเสร็จแล้ว และหลงคิดว่ามันง่าย (เช่น กว่า บัฟเฟต์จะทำกำไรมหาศาล ก็มีหลายครั้งที่หุ้นลงหนัก มูลค่าพอร์ตหายวับไปต่อหน้า)
22.
บัฟเฟต ถือหุ้น 400-500 ตัว แต่มีเพียง 10 ตัวที่ทำให้ผลตอบแทนกองทุนสูงโดดเด่นขึ้นมา ถ้าเอา 10 ตัวนั้น ผลตอบแทนก็จะได้แค่ค่าเฉลี่ย ตลาดเท่านั้น (ประเด็นตรงนี้ น่าจะหมายถึงว่า ถ้าเราไม่สามารถเลือก 10 ตัวนั้นได้ ก็ถือทุกตัวไปดีกว่า อย่างน้อยก็ได้ค่าเฉลี่ย)
23.
ไม่สำคัญว่าคุณถูกหรือผิด สำคัญว่า ผิดแล้วเจ็บให้น้อย ถ้าถูกต้องได้ให้เยอะ (จอร์จ โซรอส)
24.
อิสระในการใช้ชีวิต ได้ทำสิ่งที่อยากทำ ในเวลาที่อยากทำ คือปันผลที่ดีที่สุดของการลงทุน
25.
หลังจากสัมภาษณ์คนแก่ในบ้านพักคนชรา 1,000 คน พบว่าไม่มีคนใดเลยที่ให้ความสำคัญกับ เงิน หรือวัตถุในการวัดความสำเร็จของชีวิต
26.
จริง ๆ แล้วเราไม่ได้ต้องการรถสปอร์ต หรือบ้านใหญ่ๆ หรอก เราแค่อยากให้คนรอบตัวเรา ชื่นชมยอมรับที่เราสามารถมีบ้านใหญ่ มีรถสปอร์ต แค่นั้นแหละ (แต่... มีทางที่ง่ายกว่านั้นไหม)
27.
ความมั่งคั่ง เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น สิ่งที่มองเห็นคือ หนี้ หรือ ความมั่งคั่งที่ถูกจ่ายออกไปแล้ว
28.
เงินออม = (รายได้ - อีโก้) ต่อให้มีเงินเดือนสูงแค่ไหน ถ้าความอยากได้อยากมีสูงตาม ก็จะไม่เหลือเงินไว้ออม
29.
Intelligence not key success factor but flexibility is
30.
แม้แต่ Markowitz เองก็ไม่ได้ลงทุนตามพอร์ต efficient frontier แต่เน้นลงทุนเพื่อความสบายใจ ไม่เสียใจภายหลัง เป็นหลัก
31.
ความเป็นจริงของเศรษฐศาสตร์ คือ อะไร ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
32.
การพึ่งพาข้อมูลในอดีตมากเกินไป อาจทำให้พลาดโอกาสที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนได้
33.
ยิ่งมองย้อนหลังไปมากเท่าใด โอกาสจะได้ข้อมูลที่ไม่ related กับปัจจุบันมากเท่านั้น
34.
คำอันตรายคือ It’s different this time
35.
เราควรต้องเผื่อใจ ไว้สำหรับความผิดพลาด error ไว้เสมอ
36.
ในชีวิต อะไรที่มันพังได้ สุดท้ายมันจะพังเสมอ ต่อให้โอกาสน้อยแค่ไหน
37.
เป้าหมาย ความต้องการของคนเปลี่ยนแปลงเสมอ ไม่ต้องวางแผนเป้าไกลมาก หรืออาจซอยเป้าให้คำเล็กลง
38.
ต้นทุนจม (Sunk Cost) คือความทุ่มเท ความสำเร็จในอดีตที่ถอนคืนไม่ได้ แต่มันจะเป็นตัวที่จำกัดตัวเลือกของเราในอนาคต ทางที่ดี ควรมีต้นทุนจมให้น้อย ทำตัวเบา ๆ คล่องตัวไว้
39.
ทุกอย่างมีต้นทุน มีราคาที่ต้องจ่ายเพื่อแลกกับกำไรเสมอ ลงทุนต้องใช้เวลา เทรดเดอร์ พยายามจับเสือมือเปล่า โอกาสพลาดจึงมีสูงและอาจไม่ยั่งยืน แน่นอนว่ามีผู้ชนะ แต่ไม่ใช่คนส่วนใหญ่
40.
ต้นเหตุปัญหาในโลกการเงิน สุดท้ายวนมาเกิดจากความโลภของคนที่มากเกินไป แค่นั้นแหละ
41.
ราคาเหมาะสมในการลงทุน ขึ้นอยู่กับว่า ใคร เป็นคนซื้อ เพราะปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสำคัญไม่เหมือนกัน บางคนเล่นในวัน เหตุผลจะไม่เหมือนกับลงทุนเป็นปี เพราะฉะนั้น อาจจะต้องพิจารณาให้ดีเวลา เจอนักวิเคราะห์ในทีวี บอกว่าควรซื้อหุ้นตัวนี้ ตัวนั้น เขาแนะนำโดยไม่รู้จัก “คุณ” เขาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตัวนักลงทุนเลย ความต้องการ ความเสี่ยงที่รับได้ และอื่น ๆ
42.
“เราอาจกำลังฟังคำแนะนำ จากคนที่เล่นอยู่คนละเกมกับเราก็ได้”
43.
เอาจริงแล้ว ๆ คนส่วนใหญ่ชอบฟังข่าวร้าย เพราะมันดูฉลาดที่ได้รู้และดูน่าเชื่อมากกว่าข่าวดี เช่น ถ้าคนบอกว่าหุ้นจะขึ้นไปอีก 30% คนฟังจะเฉยๆ แต่ถ้าบอกว่า ระวังนะ มันจะลงไป 30% เขาจะได้รับความสนใจทันที (พาดหัวข่าว click bet ทั้งหลาย)
44.
แต่การที่คนให้ความสำคัญ การมองโลกแง่ร้าย มากกว่าดี ก็ไม่ได้แย่เสมอไป มันอาจเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้มวลมนุษยชาติอยู่รอดมาจนทุกวันนี้ก็เป็นได้ / ความดิ้นรนเอาตัวรอด ก่อให้เกิดนวัตกรรม มาแต่ไหนแต่ไร
45.
มีอยู่ 2 เรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของคุณแน่นอน ไม่ว่าคุณจะสนใจมันหรือไม่ คือ เงิน กับ สุขภาพ
46.
การเติบโตแบบก้าวกระโดดใช้เวลาในการสั่งสมพลัง แต่ความพังอาจใช้เวลาแค่ข้ามคืน
50.
ลึก ๆ แล้วคนชอบฟังข่าวร้าย เพราะอย่างน้อยได้เตรียมตัวไว้ก่อน ถ้ามันจะจริง แต่ถ้ามันไม่จริง ก็ถือเป็นความสุข (เซอไพร้ส) เล็ก ๆ
51.
จนถึงสิ้นปี 2018 มีเพียง 15% ของกองทุนรวม Active ทั่วโลกที่ชนะ Benchmark
52.
สิ่งเดียวที่ทำให้โลกใบนี้เปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็วคือ เรื่องราว ที่เราเชื่อ ที่เราบอกตัวเอง เรื่องที่เราอยากให้มันเป็นจริง ยิ่งถ้ามันส่งผลกระทบได้อย่างมีนัยยะ โดยเฉพาะเรื่องการเงิน การลงทุน เรายิ่งพร้อมจะเชื่อ โดยไม่ได้สนเหตุปัจจัยความเป็นจริงมากนัก (แชร์ลูกโซ่ คอร์สลัดรวยหุ้น)
53.
คนมักพยายามคิดเสมอว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีเหตุผล เราสามารถตีความทุกอย่างได้จากความรู้เท่าที่เรามี แต่ความเป็นจริง ไม่ได้เป็นแบบนั้น เราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง และบางเรื่องก็ไม่ได้มีเหตุผล ช่องว่างตรงนั้นคือ “เรื่องราว” ที่เราแต่งขึ้นมาเองในหัว เพื่อปลอบตัวเองว่าทุกอย่างอยู่ในการควบคุม ซึ่งมันคือจุดบอดทางความคิด ที่อาจจะไปสู่ความผิดพลาด
54.
ลองทำนายว่าตลาดจะให้ผลตอบแทนเป็น บวกทุกปี คุณจะมีโอกาสทายถูกมากกว่านักวิเคราะห์ที่เก่งที่สุด 20 คนแรกของโลก
55.
ภาพลวงว่าเรามีอำนาจควบคุมทุกอย่าง มันง่ายกว่าการยอมรับว่าโลกใบนี้มันมีแต่ความไม่แน่นอน โดยเฉพาะโลกการลงทุน ที่ราคาตลาดสะท้อน “อารมณ์” ของนักลงทุน ไม่ใช่เหตุผล
56.
“การลงทุนแบบนี้ การจัดพอร์ตแบบนี้ ทำให้ฉันนอนหลับได้ในเวลากลางคืน หรือไม่ ?” ดูจะเป็นแนวทางที่ดีในการเริ่มลงทุนสำหรับตัวผู้เขียนเอง
57.
ถ้าอยากลงทุนได้ผลดีมากขึ้น สิ่งที่ง่ายที่สุด คือ ยืดระยะเวลาการลงทุนออกไป
58.
กว่าครึ่งหนึ่งของ ผู้จัดการกองทุน ไม่ลงทุนในกองที่ตัวเองบริหาร
59.
การตัดสินใจลงทุนส่วนใหญ่ของคนธรรมดา ไม่ใช่ผลตอบแทนที่สูงที่สุด แต่เป็นการที่จะไม่ต้องมานั่งเสียใจทีหลังต่างหาก > การตัดสินใจที่ดีสุด อาจไม่ใช่ทางเลือกที่มีเหตุผลที่สุด
60.
แม้แต่ตัวผู้เขียน ก็เลือกลงทุนใน กองทุนดัชนี ต้นทุนต่ำ เพื่อเพิ่มโอกาสที่เงินลงทุนจะถึงเป้าหมายให้มากที่สุด

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประสบการณ์จริงคนขึ้นศาลคดี Easybuy

แนวทางรับมือเมื่อได้รับหมายศาลแบบบ้านๆ โดยคุณแก้วจ๋า ชมรมหนี้บัตรเครดิต

หมายศาลจะถุกส่งไปที่ไหน