ราชกิจจาฯเผยแพร่ประกาศกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมทวงหนี้ใหม่
Aug 14) ราชกิจจาฯเผยแพร่ประกาศกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมทวงหนี้ใหม่ ไม่เกิน1พันห้ามเรียกเก็บ : เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ เรื่องการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16 (1) ประกอบมาตรา 13 (1) แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้เรื่องการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้”
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับ แต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ในประกาศนี้ “ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้” หมายความว่าจำนวนเงินที่ได้กำหนดไว้เป็นค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้จากลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้โดยต้องมีหลักฐานหรือเอกสารเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ ให้สามารถตรวจสอบได้ แต่ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการติดตามเอาทรัพย์กลับคืน
“รอบการทวงถามหนี้” หมายความว่า รอบระยะเวลาเพื่อการทวงถามหนี้ โดยนับตั้งแต่วันผิดนัดชำระหนี้ของงวดนั้นจนถึงวันครบกำหนดชำระหนึ่งงวดถัดไป ทั้งนี้ การนับหนึ่งรอบระยะเวลาดังกล่าวจะต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน
ข้อ 4 เมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ และมีการทวงถามหนี้ผู้ทวงถามหนี้อาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้ได้ดังนี้
(1) ไม่เกินห้าสิบบาทต่อรอบการทวงถามหนี้ ในกรณีลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระหนึ่งงวด
(2) ไม่เกินหนึ่งร้อยบาทต่อรอบการทวงถามหนี้ ในกรณีลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระมากกว่าหนึ่งงวด
สำหรับหนี้ประเภทให้เช่าซื้อหรือให้เช่าแบบลิสซิ่งในสินค้าประเภทรถตามกฎหมายว่า ด้วยรถยนต์อาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้เพิ่มเติมจากวรรคหนึ่งเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการลงพื้นที่ติดตามทวงถามหนี้ ตามที่เกิดขึ้นจริงทั้งนี้ไม่เกินสี่ร้อยบาทต่อรอบการทวงถามหนี้และให้เรียกเก็บได้เฉพาะกรณีที่ลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระมากกว่าหนึ่งงวด
ข้อ 5 ห้ามมิให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้ตามข้อ 4 สำหรับกรณีลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระหรือหนี้ที่ถึงกำหนดชำระสะสมที่ไม่เกินหนึ่งพันบาท
ข้อ 6 ห้ามมิให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้อีกภายหลังจากได้รับชำระหนี้ครบตามจำนวน หรือมีการบอกเลิกสัญญาแล้วตามกฎหมาย
Source: แนวหน้าออนไลน์
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น