เงินได้เลี้ยงชีพหลังเกษียณจากการออมผ่านแหล่งเงินออมระยะยาว
ในขณะที่คนไทยมีชีวิตยืนยาวมากขึ้น สิ่งที่เป็นความกังวลใจก็คือ เงินได้เลี้ยงชีพสำหรับชีวิตหลังเกษียณ การออมสะสมในวัยทำงานจึงเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับผู้ที่ต้องการวางแผนการออมในวันนี้ ประเด็นคำถามที่สำคัญ ก็คือ ออมอย่างไรจึงเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพในวัยหลังเกษียณ บทศึกษานี้ ใช้อัตราทดแทนรายได้ร้อยละ 50 * เป็นดัชนีชี้วัดความเพียงพอ และประมาณอัตราทดแทนรายได้ที่ผู้ออมจะได้รับภายหลังเกษียณอายุภายใต้กรณีการออมต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางการวางแผนการออม ทั้งนี้ อัตราทดแทนรายได้ หมายถึงสัดส่วนเงินได้เลี้ยงชีพที่ผู้ออมจะได้รับในวัยหลังเกษียณอายุเทียบต่อรายได้เฉลี่ยในช่วงก่อนเกษียณอายุ
ปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออัตราทดแทนรายได้ที่จะได้รับในอนาคตมีหลายปัจจัย ที่สำคัญๆ ได้แก่ อัตราออม (ในบทศึกษานี้ หมายความรวมถึงอัตราเงินออมของผู้ออมเอง และอัตราเงินออมสมทบที่ผู้ออมได้รับจากนายจ้าง และ/หรือรัฐบาล) จำนวนปีของการออม นโยบายลงทุนซึ่งกระทบต่ออัตราผลตอบแทน จำนวนปีที่จะใช้เงินออมหลังเกษียณอายุ การบริหารเงินออมในส่วนที่ยังไม่ใช้ในช่วงหลังเกษียณอายุ เป็นต้น บทศึกษานี้ประมาณอัตราทดแทนรายได้ที่ผู้ออมจะได้รับ โดยกำหนดอัตราออมในช่วงร้อยละ 3 - 51 จำนวนปีของการออมแบ่งเป็น 3 กรณี คือ ออม 10 ปี 20 ปี และ 30 ปี ในขณะที่นโยบายลงทุนแบ่งเป็น 3 กรณี คือ นโยบายลงทุนตราสารทุน ตราสารหนี้ และตลาดเงิน ภายใต้ข้อสมมติฐานว่า จำนวนปีที่ผู้ออมจะใช้เงินออมหลังเกษียณอายุเท่ากับ 25 ปี และการบริหารเงินออมในส่วนที่ยังไม่ใช้หลังเกษียณอายุเป็นแบบลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ
จากการประมาณการอัตราทดแทนรายได้ตามกรณีการออมต่าง ๆ พบว่า ผู้ออมระยะเวลา 10 ปี ไม่สามารถจะบรรลุเป้าหมายอัตราทดแทนรายได้ร้อยละ 50 ในทุกกรณีการออมที่อยู่ภายใต้การวิเคราะห์ ผู้ออมระยะเวลา 20 ปี มีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายที่กำหนด แต่มีข้อจำกัดระหว่างการเลือกนโยบายลงทุน และอัตราออม กล่าวคือ ถ้าผู้ออมต้องการออมในอัตราประมาณร้อยละ 21 ผู้ออมต้องเลือกนโยบายลงทุนตราสารทุนซึ่งมีความเสี่ยงต่อการลงทุนสูง แต่ถ้าผู้ออมเลือกนโยบายลงทุนตราสารหนี้ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการลงทุนต่ำ ผู้ออมต้องออมในอัตราที่สูงมากร้อยละ 45 สำหรับผู้ออมที่มีระยะเวลาออม 30 ปี มีโอกาสที่จะบรรลุอัตราทดแทนรายได้ที่เป็นเป้าหมายในหลายทางเลือก ซึ่งทำให้ผู้ออมมีความยืดหยุ่นในการเลือกอัตราออม และ/หรือนโยบายลงทุนที่เหมาะสมกับความต้องการของตนเอง ในกรณีที่ผู้ออมเลือกนโยบายลงทุนตราสารทุน อัตราออมที่ต้องออมจะอยู่ในระดับต่ำมากที่ร้อยละ 9 และในกรณีที่ผู้ออมเลือกนโยบายลงทุนตราสารหนี้ อัตราออมที่ต้องออมยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากที่ร้อยละ 27 นั่นคือ ผู้ออมที่วางแผนการออมในระยะยาว 30 ปี จะเป็นกลุ่มที่สามารถบรรลุเป้าหมายอัตราทดแทนรายได้ที่วางไว้ง่ายกว่า และมีความแน่นอนมากกว่า
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น