แผนชีวิตยามชรา..ถ้าระบบบัตรทองไม่ล่มไปเสียก่อน

ปัจจุบันดิฉันอายุ 46 ไม่ได้แต่งงาน เคยทำงานประจำค่ะ ตอนนี้ออกจากงานประจำมาแล้วขายกาแฟ มีรายได้ 7,000-10,000 บาทต่อเดือน กำลังตัดสินใจวางแผนยามชรา และมีความเชื่อศรัทธาในตัวคุณหมอ เพื่อมีส่วนช่วยชี้แนะการวางแผนในอนาคต

จึงใคร่เรียนถามขอคำชี้แนะ ดังนี้

1. ดิฉันเลือกไม่ถูกว่าจะต่อสิทธิ์ประกันสังคมมาตรา 39 เพื่อเอาสิทธิ์รักษาพยาบาลต่อไป หรือไปใช้สิทธิ์บัตรทอง แต่ได้เงินบำนาญจากประกันสังคมเดือนละ 3,000 บาทต่อเดือน ตอนอายุ 60 ปีไปจนตาย

2. จริงๆ ดิฉันมีน้องชายแท้ๆ 1 คน น้องชายลูกอาที่เลี้ยงมาอีก 1 คน มีหลานสาวตัวน้อย 2 คนค่ะ...แต่ใจของดิฉันรับรู้อะไรบางอย่าง ทำให้ทราบสัจธรรมของชีวิต ว่าไม่ควรฝากผีฝากไข้กับใคร ไม่ควรทำตัวเป็นภาระใครยามชรา .. นี่คงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่หวังพึ่งคำแนะนำจากคุณหมอ

3. ยามชราดิฉันควรไปอยู่บ้านพักคนชราไหมคะคุณหมอ จากนี้ไปดิฉันควรคิดและปฏิบัติตนอย่างไรดีคะ

คาดหวังเพียงยามชราไม่ลำบาก และมีความสุขค่ะคุณหมอ

..........................................................

ตอบครับ

1.ถามว่าแก่แล้วจะหยุดต่อบัตรประกันสังคมเพื่อเอาสิทธิบำนาญเดือนละ 3,000 บาท แล้วไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลจากบัตรทองดีไหม

ตอบว่าดีครับ..ถ้าทั้งสองระบบนั้นไม่ล่มไปเสียก่อน

ในคำตอบนี้ผมแยกเป็นสี่ประเด็นนะ

ประเด็นที่ 1. อะไรคือส่วนที่ดีที่สุดของบัตรประกันสังคม

ตอบว่าบำนาญนั่นแหละครับ เป็นส่วนที่ดีที่สุดของบัตรประกันสังคม เพราะในบรรดาเงินประกันสังคมที่เก็บไปทั้งหมด ราว 90% จะไปเป็นกองทุนชราภาพ ก็คือบำนาญนั่นแหละ

ดังนั้น หากคุณมีสิทธิประกันสังคม เรื่องอะไรจะทิ้งส่วนที่ดีที่สุดและเป็น 90% ของระบบนี้ไปรับแค่สิทธิรักษาพยาบาลซึ่งเป็นแค่ 10% ของระบบละครับ

ว่าที่จริงแล้วการมีมาตรา 39 คือเปิดให้ผู้ชราต่อสิทธิได้ด้วยการเป็นผู้ประกันตนเองนั้น เป็นลูกเล่นที่จะชลอการจ่ายบำนาญนั่นเอง ถ้าสมาชิกขยันต่อบัตรกันมาก ก็จะได้ตายไปทั้งๆ ที่ยังเป็นสมาชิกซึ่งต้องจ่ายเงินสมทบทุกเดือนอยู่ซึ่งเป็นการอยู่ในฐานะเป็นผู้เลี้ยงระบบ แทนที่จะเป็นผู้ร้บบำนาญซึ่งเป็นการอยู่ในฐานะผู้เป็นภาระต่อระบบ

ประเด็นที่ 2. การย้ายไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลจากบัตรทอง กับการใช้สิทธิรักษาพยาบาลของประกันสังคม อะไรดีกว่ากัน

ตอบว่า บัตรทองดีกว่าในแง่ของระบบเครือข่ายการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมกว่า คือเริ่มตั้งแต่พยาบาลเยี่ยมบ้านใกล้บ้านใกล้ใจ หรือ รพ.สต.ขึ้นไปจนถึง รพ.ศูนย์ที่มีขีดความสามารถรักษาโรคลึกได้ครบถ้วน

ส่วนประกันสังคมนั้นดีกว่าในแง่สามารถเลือก รพ.เอกชนเป็น รพ.คู่สัญญาได้ (หากมองว่า รพ.เอกชนสวยงามและสะดวกสบายกว่าของรพ.ของรัฐ) ส่วนคุณภาพการรักษาโดยเนื้อในนั้นไม่ต่างกัน โหลงโจ้งผมมีความเห็นว่าดีพอๆ กันครับ แล้วแต่คนชอบ

ประเด็นที่ 3. ทั้งสองระบบมั่นคงไหม

ตอบว่า โลกนี้ไม่มีอะไรมั่นคง ให้คุณอยู่กับปัจจุบันและยอมรับความไม่แน่นอนของอนาคต

สมัยผมเป็นหมออยู่นิวซีแลนด์ซึ่งเป็นประเทศสังคมนิยมที่จัดว่าเป็นสวรรค์ของประชาชนระดับรากหญ้าโดยเฉพาะคนแก่ แล้วอยู่มาวันหนึ่ง ประมาณปี ค.ศ. 1989 ถ้าจำไม่ผิด รัฐบาลก็ประกาศเลิกระบบบำนาญประชาชนเสียดื้อๆ แบบตูม..ม ช็อคซีเนมา

ผู้คนร้องแรกแหกกระเฌอกันราวกับว่าโลกจะแตก เวลาออกตรวจคนไข้ผมต้องเสียเวลาไปกับการฟังคนแก่บ่นเรื่องการเลิกบำนาญ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่เห็นมีใครเป็นอะไรไป ทุกคนก็ยอมรับกันได้

ที่เล่าให้ฟังนี้เพื่อให้เข้าใจว่าขนาดประเทศที่เป็นสังคมนิยมมาแต่อ้อนแต่ออดยังเลิกสวัสดิการสังคมได้ ก็ในเมื่อเงินมันไม่มีจะไม่เลิกได้ไงละครับ

ประเด็นที่ 4. ในระหว่างสองระบบ ระบบบัตรทองกับประกันสังคม อย่างไหนมั่นคงกว่ากัน

ตอบว่า ระบบบัตรทองมั่นคงกว่า เพราะผมทำนายว่าหากไม่มีการเปลี่ยนกฎกติกา ระบบประกันสังคมไปได้อย่างเก่งก็อีกไม่เกินสามสิบปี เพราะตามข้อมูลเท่าที่เปิดเผยออกมา เราเริ่มจ่ายบำนาญในปี พ.ศ. 2557 ปีแรกก็มีคนรับบำนาญราว 1.3 แสนคน จ่ายเงินไป 4,700 ล้านบาท คำนวณแบบง่ายๆ พอไปถึงปี 2587 เงินออก (20% ของค่าจ้าง 60 เดือนสุดท้าย) ก็จะเริ่มมากกว่าเงินเข้า (ฝ่ายละ 3%ของค่าจ้าง)

แปลไทยให้เป็นจีนว่า "บ้อจี๊" และถ้าคุณแอบเงี่ยหูฟังเวลา รมต.หรือผู้รับผิดชอบให้สัมภาษณ์ กี่คนต่อกี่คน พูดกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ก็จะพูดเหมือนกันหมดตรงที่มีความกังวลว่าเบี้ยจะไม่พอจ่าย

ส่วนระบบบัตรทองนั้นก็ใช่ว่าจะมีเงิน ว่าไปแล้วก็ยากจนกว่าระบบประกันสังคมเสียอีก แต่ผมทำนายว่าจะมั่นคงกว่าเพราะมันเป็นระบบถูลู่ถูกัง เนื่องจากเมืองไทยนี้เป็นประเทศของนักร้อง ระบบการเมืองของเราไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลเลือกตั้งล้วนต้องอาศัยการสนับสนุนจากประชาชนซึ่งเป็นนักร้อง ไม่มีใครกล้าแตะระบบบัตรทองเพราะกลัวนักร้อง

ทุกครั้งที่เปลี่ยนรัฐบาล คืออย่างน้อยก็สามรัฐบาลที่ผ่านมา ผมเขียนจดหมายถึงผู้มีอำนาจให้ออกกฎหมายจัดเก็บเงินเบี้ยสุขภาพเอาจากคนรวยและหันมาใช้เงินไปกับการส่งเสริมสุขภาพให้มากขึ้นเพื่อให้ระบบอยู่ได้ แต่ทุกรัฐบาลก็..เงียบ เพราะเขากลัวนักร้อง จึงคงต้องทนถูลู่ถูกังกันไปอย่างนี้อย่างมั่นคงชั่วกัลปาวสาน เรียกว่าเป็นความมั่นคงแบบไทยๆ

—————-

2. ถามว่าความจริงก็พอมีหลานพอให้พึ่งได้แต่มีความคิดว่าไม่ควรไปฝากผีฝากไข้กับใคร คิดอย่างนี้ถูกต้องไหม

ตอบว่า ถูกต้องแล้วครับ เพราะคนรุ่นหลังตัวเขายังเอาตัวเขาเองไม่รอดเลย แล้วคุณจะไปหวังพึ่งเขาได้อย่างไร

————-

3. ถามว่ายามชราควรไปอยู่บ้านพักคนชราดีไหม

ตอบว่า ไม่ดีหรอกครับ เพราะในยุโรปและอเมริกาตอนนี้เตียงรับดูแลผู้สูงอายุล้วนว่างลงเพราะไม่มีคนเข้า คนแก่ทุกวันนี้หนีสถาบันดูแล เพราะคุณภาพชีวิตของการอยู่ในสถาบันดูแลผู้สูงอายุ สู้คุณภาพชีวิตของการใช้ชีวิตในชุมชนไม่ได้

ดังนั้น หากคุณมีที่อยู่อาศัยของตนเองอยู่ในชุมชนอยู่แล้ว ผมแนะนำให้คุณอยู่ในชุมชนนั่นแหละ บ้านมันใหญ่เกินกำลังตัวเองคุณก็ขายไปซื้อที่มันเล็กลงพออยู่ได้ อย่าไปห่วงว่าเวลาตายจะไม่มีใครมาดูใจ

โถ จะตายอยู่แล้ว ยังห่วงนั่นห่วงนี่อีกหรือ

โครงสร้างของชุมชนในประเทศเราเป็นระบบสนับสนุนคนแก่โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว และระบบบัตรทองเองก็ครอบคลุมตั้งแต่การดูแลที่บ้านเลยทีเดียว มีการลงทะเบียนคนแก่ในเขต รพ.สต.ใกล้บ้าน มีทีมงานเยี่ยมบ้านคนแก่เป็นระยะๆ ถ้าเป็นแผลนอนกดทับก็มีทีมทำแผลระดับมืออาชีพเอาเครื่องมือมาทำแผลให้ถึงบ้าน โดยที่คุณก็ยังได้อยู่บ้านของตัวเองที่ตัวเองรักและคุ้นเคย นี่เป็นระบบดูแลสุขภาพในวัยชราที่ดีที่สุดแล้ว

เมื่อเดือนก่อนผมขับรถขี้นเหนือ ได้มีโอกาสไปเที่ยวชมบ้านพักคนชราของกรมประชาสงเคราะห์กับ อบจ.เชียงใหม่ซึ่งสร้างไว้ที่ อ. แม่แตง สถานที่แห่งนั้นแยกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นคล้ายโรงพยาบาลผู้สูงอายุซึ่งรับเอาผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เข้ามาอยู่ที่นั่น ส่วนนี้เรียกว่าเป็น nursing home นั่นเอง ส่วนนี้ไม่มีอะไรที่ผมจะพูดถึงเป็นพิเศษ เพราะก็เหมือนกับรพ.ผู้สูงอายุทั่วไป

อีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนที่ชาวบ้านแถบนี้เรียกว่า "บ้านคุณนาย" คือเป็นโซนบ้านพักในรูปแบบที่เรียกกันในภาษาฝรั่งว่า "independent living" ผู้อยู่อาศัยต้องออกเงินสร้าง เมื่อตัวเองตายแล้วก็ตกเป็นของรัฐเพื่อให้คนอื่นเข้ามาอยู่ต่อ โลเคชั่นที่ตั้งของสถานที่ดีมากไม่มีที่ติ อากาศเย็นสบาย อยู่ในป่าไม้ ชุ่มฉ่ำ ใกล้ชิดธรรมชาติ บ้านแต่ละหลังก็สร้างอย่างถาวร อยู่ใกล้กันพอดีๆ ไม่แน่น ไม่ห่าง ถนนหนทางภายใน น้ำไฟ รัฐบาลลงทุนให้อย่างดีหมด

แต่.. ชุมชนมันไม่มีชีวิต

นึกภาพถ้าผมเป็นคนแก่ จะให้ผมมาอยู่ในที่แบบนี้ ผมไม่เอานะ ผมขอไปอยู่ในสลัมที่ผัวเมียทะเลาะกันส่งเสียงเอะอะมีเด็กวิ่งเล่นเกะกะเจี้ยวจ๊าวดีกว่า เพราะแม้ผมจะแก่ แต่ผมก็ยังมีชีวิตอยู่ ผมจึงต้องการอยู่ในชุมชนที่มีชีวิต ผมไม่ต้องการอยู่ในชุมชนที่ไม่มีชีวิต

——————

4. ถามว่าในวัยชราควรดูแลตัวเองอย่างไร

ตอบว่า ให้คุณพึ่งตัวเองแบบวันต่อวัน เปลี่ยนไปใช้ชีวิตในลักษณะที่พึ่งตัวเองได้ 100% เสียตั้งแต่วันนี้ กินอาหารที่มีพืชเป็นหลักและไขมันต่ำ ออกกำลังกายทุกวัน จัดการความเครียดโดยหัดวางความคิดลบๆ ทิ้งไปเสีย นอนหลับให้ได้ดีโดยไม่ใช้ยา ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ตากแดด ขุดดิน ฟันหญ้า ปลูกต้นไม้ ใส่ใจที่จะฝึกฝนทำกิจวัตรสำคัญ (IADL) เจ็ดอย่าง และกิจวัตรจำเป็น (ADL) ห้าอย่าง ให้ได้ด้วยตัวเองให้ได้นานจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

กิจวัตรสำคัญเจ็ดอย่าง (IADL) ได้แก่

(1) อยู่คนเดียวได้ หมายความว่าทนเหงาได้

(2) ขนส่งตัวเอง เช่นถีบรถ ขับรถ หรือไปขึ้นรถเมล์ ได้

(3) ทำอาหารกินเองได้

(4) ช้อปปิ้งเองได้

(5) บริหารที่อยู่ตัวเองได้ เช่นปัดกวาดเช็ดถู

(6) บริหารยาตัวเองได้

(7) บริหารเงินของตัวเองได้

ส่วนกิจวัตรจำเป็นห้าอย่าง (ADL) ได้แก่

(1) อาบน้ำแปรงฟันได้เอง

(2) แต่งตัวสวมเสื้อผ้าได้เอง

(3) กินเองได้

(4) อึฉี่เองได้

(5) เดินเหินเองได้

กิจวัตรจำเป็นห้าอย่างนี้ หากทำไม่ได้แม้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ก็หมายความว่าอยู่คนเดียวไม่ได้แล้ว ต้องปล่อยชีวิตให้ไหลไปตามพระพรหมลิขิต มันจะไปจบที่โรงเลี้ยงคนแก่ของ อบต.หรือเทศบาล หรือไปจบที่ศาลาวัดก็ช่างมันเถอะ

เพราะจบที่ไหนท้ายที่สุดก็แป๊ะเอี้ย ... คือ เด๊ดสะมอเร่เหมียนกัลล์
.

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประสบการณ์จริงคนขึ้นศาลคดี Easybuy

แนวทางรับมือเมื่อได้รับหมายศาลแบบบ้านๆ โดยคุณแก้วจ๋า ชมรมหนี้บัตรเครดิต

หมายศาลจะถุกส่งไปที่ไหน