ข้อคิดในการจัดการเงินสำหรับปี 2561 by คุณวรวรรณ ธาราภูมิ

เป็นเรื่องปกติ ที่ในทุกๆ ปลายปี จะมาให้ข้อคิดเพื่อวางแผนการเงินส่วนบุคคลและครอบครัว เพื่อ 1. ให้รู้จักวางแผนการเงิน 2. ให้ทบทวนสถานะครอบครัวและการเงินที่อาจเปลี่ยนไปในแต่ละปี และ 3. หากมีแผนการเงินแล้ว มีพอร์ตลงทุนของตนที่เหมาะสมแล้ว ก็จะเตือนให้รู้จักปรับสมดุลย์ (Rebalancing) สัดส่วนสินทรัพย์ลงทุนให้เหมาะกับเป้าหมายทางการเงินของแต่ละคน



1. จัดทำแผนรายได้ ค่าใช้จ่าย ประจำปี 2561
------------------------------------------------------
เราต้องเริ่มจากการทำบัญชีรับจ่ายของเราและครอบครัวที่อยู่ในอุปการะของเรา โดยแยกเป็นรายเดือน เพราะเมื่อรู้ที่มาของเงินได้ กับรู้ว่าเงินเราจะออกไปจ่ายทางไหนได้บ้างแล้ว เราจะเห็นฐานะทางการเงินของเราในวันนี้และในอนาคต ทำให้เริ่มพิจารณาได้ว่าควรจะทำอย่างไรเพื่อให้มีเงินออมสะสมไปลงทุนทุกเดือน เราใช้จ่ายอะไรบ้าง อะไรควรลด เราจะหารายได้เพิ่มได้ไหม
ทั้งนี้ อย่าลืมใส่รายการผ่อนชำระหนี้ และดอกเบี้ยเงินกู้ด้วย (ถ้ามี) นอกจากนี้ก็ให้ใส่รายจ่ายขาจรที่ไม่ได้เกิดประจำเป็นรายเดือน เช่น ค่าส่วนกลางที่พักอาศัย ค่าเล่าเรียนบุตร เบี้ยประกันชีวิตและประกันภัย ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต ค่าบำรุงรักษาที่อยู่อาศัยและยานพาหนะ ค่าทำฟัน ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ฯลฯ
.
2. กันเงินสำรองฉุกเฉิน
----------------------------
เงินส่วนนี้สำคัญมากเพราะมันจะทำให้เราดำเนินชีวิตตามปกติ ทำให้เรามีเงินจ่ายตามภาระที่มีอยู่ไปได้ช่วงหนึ่งโดยไม่ต้องทุรนทุราย เป็นส่วนที่เราจะไม่ใช้เลยยกเว้นมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น การเจ็บป่วย พิการ ตกงาน ฯลฯ
ส่วนจำนวนที่ควรกันเอาไว้นั้น แนะนำให้คำนวณว่าหากตกงานหรือเกิดเหตุอันไม่คาดฝัน แล้ว เราจะหางานทำได้ภายในกี่เดือน เอาจำนวนเดือนนี้ไปคูณกับรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นในระยะเดียวกัน เช่นหากเราคาดว่าอย่างเลวร้ายที่สุดเราจะหางานทำได้ใน 6 เดือน เราก็ใช้ 6 เดือนไปคูณกับรายจ่ายใน 6 เดือนข้างหน้า ก็จะได้เงินก้อนที่ต้องสำรองไว้เผื่อฉุกเฉิน
เงินก้อนนี้ต้องเอาไปไว้ในที่ที่ปลอดภัย และสามารถถอนออกมาใช้ได้ทันทีในยามฉุกเฉิน เช่น ฝากออมทรัพย์ หรือเอาไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ประเภทที่ให้เราถอนได้เป็นรายวัน

ซึ่งประเด็นหลักในการตัดสินใจว่าจะเอาเงินฉุกเฉินไปไว้ที่ไหนนั้น จะอยู่ที่ 3 เรื่อง คือ 1. ที่ไหนปลอดภัยที่สุด มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนน้อยที่สุด 2. ที่ไหนถอนได้สะดวกรวดเร็วที่สุด และ 3. ด้วยข้อกำหนด 2 ข้อแรกนั้น อะไรให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด

3. ทบทวนและวางแผนการคุ้มครองตนเองและครอบครัว
-------------------------------------------------------------------
หลังจากกันเงินฉุกเฉินไว้แล้ว ก่อนที่จะนำเงินที่เหลือไปลงทุน ขอให้กันเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นการคุ้มครองตนก่อน เพราะหากเกิดเหตุใดๆ ขึ้นครอบครัวของเราจะได้ไม่เดือดร้อน และอย่าลืมว่าเหตุมักเกิดเมื่อเราเลิกทำประกัน
การทำประกันที่จำเป็น
--------------------------
- ประกันการผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัย
เมื่อเรายังมีภาระผ่อนบ้าน เราก็มีความเสี่ยงแล้ว เพราะหากเราผู้ทำรายได้ให้ครอบครัวเกิดเป็นอะไรไป แล้วคนข้างหลังไม่มีปัญญาผ่อนต่อ บ้านก็จะถูกยึด ครอบครัวจะไม่มีที่อยู่อาศัย ซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่าสลดใจที่สุด เราก็ตายตาไม่หลับ ดังนั้น เราต้องทำประกันเรื่องนี้ไว้ ซึ่งสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้มักจะมีให้ แต่ขอให้เราใช้เวลาเปรียบเทียบกับข้อเสนอของบริษัทประกันที่มั่นคงที่อื่นด้วย เพราะสถาบันการเงินที่เรากู้อาจไม่ได้ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุดแก่เราก็ได้ โดยเราจะเลือกทำประกันกับบริษัทประกันที่มีความมั่นคงสูง และเลือกอันที่มีค่าใช้จ่ายรวมต่ำที่สุดในเงื่อนไขวงเงินประกันเท่าๆ กัน
- ประกันที่อยู่อาศัยจากอัคคีภัย ภัยธรรมชาติ ภัยจากการก่อการร้ายและวินาศกรรม
เรื่องนี้เราหลายคนคงพบมาทุกเหตุการณ์แล้ว และคงเห็นความสำคัญของการทำประกันภัยเอาไว้ จึงไม่ต้องอธิบายให้มากความ
- ประกันการใช้ยานพาหนะและอุบัติเหตุ
นอกจากจะทำประกันตามที่ พ.ร.บ.บังคับแล้ว ขอให้พิจารณาทำประกันชั้นหนึ่งหากเป็นไปได้ เพราะถ้าไม่มี เราจะมีรายจ่ายเพิ่มเมื่อเกิดเหตุ อาจจะเป็นหลักแสน หรือเป็นล้าน ทำให้เราต้องไปดึงเงินสำรองฉุกเฉินมาช่วยโดยไม่ควร หรือดึงมาจนหมดก็ยังไม่พอจ่ายก็ได้
หลักในการเลือกบริษัทประกันภัย นอกจากจะเหมือนข้อต้นๆ แล้ว จากประสบการณ์ส่วนตัว ขอแนะนำให้เลือกที่ที่เรามีคนรู้จักสนิทสนมทำงานในบริษัทนั้นๆ ด้วย เพราะมันจะทำให้อะไรๆ ง่ายขึ้นเมื่อเกิดเหตุ
- ประกันสุขภาพของตนและคนในครอบครัว
แม้ว่าตัวเราเองนั้นอาจจะมีความคุ้มครองจากบริษัทหรือองค์กรที่เราเป็นลูกจ้างอยู่แล้ว แต่เรามักจะละเลยคนในความอุปการะของเรา ซึ่งเขาก็มีเจ็บมีป่วยได้

เมื่อเจ็บป่วยที มันก็เป็นเงินไม่น้อย โดยเฉพาะถ้าต้องเข้าไปนอนในโรงพยาบาล ซึ่งจะมีค่านั่นค่านี่ใส่ลงมาในใบแจ้งหนี้ โดยที่เราไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร และต่อรองก่อนใช้บริการก็ไม่ได้ และในบางกรณีเราพบแพทย์เพียง 5 นาที แต่มีค่าธรรมเนียมแพทย์ ค่าคำปรึกษาแพทย์ ค่าหายใจของแพทย์ ในจำนวนไม่น้อยเลย หากหารเป็นค่าใช้จ่ายต่อนาทีแล้วสักวันมันอาจจะสูงกว่าค่าปรึกษานักกฎหมายเก่งๆ ระดับประเทศเลยก็ได้
จะเลือกใช้ประกันสุขภาพที่ไหนนั้นมี 2 แนวทางคือ หากบริษัทหรือองค์กรที่เราทำงานนั้นทำประกันตัวนี้กับที่ไหน เราจะรู้ถึงคุณภาพในการให้บริการเวลาเกิดเหตุจากประสบการณ์ของเราและเพื่อนๆ ในที่ทำงาน หากดีเราก็เลือกได้
อีกวิธีคือ หากเรามีญาติหรือเพื่อนสนิทเป็นแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรในโรงพยาบาล เขาเหล่านั้นจะให้คำแนะนำได้ดีที่สุดว่าเราควรเลือกที่ไหน เพราะเขามีประสบการณ์ และสามารถแนะนำแพกเกจที่เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวเราได้ดีกว่าใคร ซึ่งเมื่อเขาเป็นญาติหรือเพื่อนสนิทของเราแล้ว เราน่าจะหมดความกังวลไปได้ว่าเขาจะแนะนำเพื่อประโยชน์ของตนมากกว่าประโยชน์ของเรา
- ประกันชีวิตและอุบัติเหตุ
เรื่องนี้หากเราไม่มีทายาท หรือมีแต่เราเกลียดขี้หน้า ไม่มีใครที่เราอยากให้เงิน หรือมีแต่เขาสามารถเลี้ยงดูตนเองได้ เราก็ไม่ต้องไปทำประกันชีวิตให้เสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์แม้ว่าจะนำไปลดหย่อนภาษีได้ ให้ทำแต่ประกันอุบัติเหตุก็พอ
กุญแจสำคัญของการทำประกันชีวิตโดยเฉพาะประเภทที่มีอายุยาวนานนั้น ไม่ใช่ผลตอบแทนที่เขาบอกว่ามากเท่านั้นเท่านี้ เพราะนั่นไม่ใช่หัวใจหลักของการทำประกัน และนอกจากนี้เขามักจะบอกอัตราผลตอบแทนที่มีวิธีคิดคนละแบบกับผลตอบแทนของการฝากเงินหรือการลงทุน ซึ่งหากคำนวณด้วยวิธีเดียวกันแล้วมักจะต่ำกว่าที่แจ้ง
หลักสำคัญในการคัดเลือกบริษัทประกันคือความมั่นคงของบริษัทนั้นๆ เพราะหากบริษัทประกันซวดเซไป ที่สัญญาอะไรๆ กับเราไว้ก็จะปฏิบัติไม่ได้ เรื่องรองลงมาคือความใส่ใจดูแลเราของตัวแทนจากบริษัทประกัน ต้องไม่ใช่ขายประกันแล้วก็แล้วกันไป ปล่อยให้เราตะเกียกตะกายแก้ปัญหาเองเมื่อเกิดปัญหา
นี่คือประกัน 5 ชนิดที่เห็นว่าจำเป็น ซึ่งแต่ละคนสามารถพิจารณาเลือกทำทั้งหมด หรือบางส่วนให้เหมาะกับความคุ้มครองอันจำเป็นตามที่เราต้องการได้ เพราะบางคนหากจะทำทั้งหมดก็อาจทำไม่ได้ หรือไม่จำเป็นต้องทำในบางอย่าง
เมื่อเราจัดเรื่องความคุ้มครองปกป้องไปจนครบแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะพิจารณาเรื่องวางแผนการลงทุนกันต่อไป … หวังว่าจะยังเหลือเงินไปลงทุน
.
4. ทบทวนและวางแผนลงทุน
-----------------------------------
เมื่อเราจัด 3 เรื่องแรกไปแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะพิจารณาเรื่องวางแผนการลงทุนกัน โดยก่อนจะลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่ เราต้องเริ่มทีละขั้นตอน เริ่มจากทำแบบทดสอบความเสี่ยงที่เรารับได้เสียก่อน เราจะได้รู้จักตนเองให้ถ่องแท้ว่าเรารับได้แค่ไหนถึงจะไม่ทุรนทุรายกับความผันผวนในตลาดที่เกิดได้เสมอๆ
แบบทดสอบความเสี่ยงนี้ ทุก บลจ.เขาใช้คำถามเหมือนๆ กัน ผลที่ได้จะพอเป็นแนวทางให้เรากำหนดแนวทางลงทุนและสัดส่วนลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ และสำหรับคนที่มีแผนลงทุนอยู่แล้ว ก็ต้องทบทวนทำแบบสอบถามนี้ปีละครั้ง หรือ 2 ปีครั้ง เพื่อจะได้รู้ว่าเมื่อเวลาผ่านไป 1-2 ปี อายุเราเปลี่ยน สถานภาพครอบครัวก็อาจจะเปลี่ยน ... เมื่อเปลี่ยนแล้ว ต้องดูว่าการยอมรับความเสี่ยงของเราเปลี่ยนไปบ้างหรือเปล่า แล้วค่อยดูว่าเราควรจะมีแผนจัดพอร์ตลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ด้วยสัดส่วนเท่าใด
อย่าลืมเชียวนะ ว่าโอกาสในการลงทุนของเราไม่ได้จำกัดแต่ในประเทศเท่านั้น สมัยนี้เราสามารถกระจายการลงทุนไปสู่โอกาสในนานาประเทศได้แล้ว
อีกเรื่องคือ พอสิ้นปีที ให้กลับมาดูว่าสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินที่เป็นจริงในปัจจุบัน เทียบกับสัดส่วนพอร์ตตามแผน ถ้ามีความต่าง เราจะได้ตัดสินใจปรับสมดุลได้ (Rebalance) ให้มีสัดส่วนสอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนของเรา
ตัวอย่างแผนการลงทุน กำหนดสัดส่วนพอร์ตตามแผนไว้ว่า …
- เป็นหุ้น 60% (หุ้นไทย 40% หุ้นต่างประเทศ 20%)
- เป็นเงินฝาก พันธบัตร ตราสารหนี้ 30% (ในประเทศ 15% ต่างประเทศ 15%)
- เป็นสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ เช่นทองคำ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ 10%
แต่พอสิ้นปีที พอร์ตลงทุนของเราจะเปลี่ยนแปลงสัดส่วนไปตามราคาสูงขึ้น/ต่ำลง ของสิ่งที่เราลงทุน สมมติว่ากลายเป็นหุ้น 55% เป็นเงินฝาก พันธบัตร ตราสารหนี้ 38% และเป็นสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ 7%
ถ้าประเมินแล้วว่าเรายังควรรักษาสัดส่วนลงทุนตามแผนเดิม เราก็ปรับสมดุลด้วยการขายส่วนที่เป็นตราสารหนี้ ฯลฯ ออกไป 8% เพื่อไปซื้อส่วนที่เป็นหุ้นและสินทรัพย์ทางเลือกเพิ่มจนได้สัดส่วนตามแผน
.
5. พิจารณาว่าเราจะบริหารพอร์ตลงทุนเอง หรือให้มืออาชีพบริหาร
------------------------------------------------------------------------------
ข้อคิดก็คือ มีเวลาเพียงพอไหม มีแรงเหลือไปทำเองไหม มีช่องทางเข้าถึงข่าวสารข้อมูลที่เพียงพอไหม และทำเองเป็นหรือไม่
แม้ว่าสมัยนี้จะมีเครื่องไม้เครื่องมือด้วยเทคโนโลบีทางการเงินมากมายที่ช่วยให้เราทำได้ง่ายขึ้น แต่ต้องดูด้วยว่ามันพอแล้วหรือเปล่าสำหรับแต่ละคน … ยุ่งนักก็นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ตามสัดส่วนในแผนที่กำหนด ผ่านกองทุนรวมจะดีที่สุด
.
6. เลิกใฝ่ฝันลมๆ แล้งๆ ว่าจะซื้อในราคาถูกที่สุดแล้วจะขายในราคาแพงที่สุดไปได้แล้ว 
------------------------------------------------------------------------------------
แม้ใครๆ จะบอกให้ซื้อถูกขายแพง แต่ไม่ได้บอกว่าจะหาจุดถูกที่สุดหรือแพงที่สุดได้ยังไง เพราะไม่ว่าใครก็หาไม่เจอ และหากทำได้ก็เพราะบังเอิญเท่านั้น
สิ่งที่ควรทำสำหรับผู้ลงทุนเองโดยตรง ไม่ลงทุนผ่านกองทุน ก็คือแสวงหาการลงทุนที่ตนถนัด เช่น ถ้าจะหาหุ้นมาลงทุน ก็เลิกไปวิ่งตามใคร แต่ให้ดูว่าที่เศรษฐกิจจะเติบโตไปในทิศทางไหนนั้น หุ้นตัวไหนจะได้ประโยชน์ แล้วก็กำหนดราคาที่ซื้อได้ กับราคาขายที่พอใจไว้เลย
และต้องเลิกมุ่งคิดที่จะเอาชนะตลาดไปเสีย เพราะผู้ลงทุนส่วนมากไม่ชนะตลาด แต่ตลาดนั่นแหละที่จะชนะผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่มีความรู้ ความชำนาญ หรือไม่มีเวลามากพอ
ส่วนผู้ลงทุนผ่านกองทุนรวมนั้นให้ไปพิจารณาที่แนวคิด ที่ Investment Theme ที่สไตล์การลงทุนของ บลจ.ที่สนใจ หากพบว่าใช่ก็ใส่เงินเข้าไปในกองทุนที่มีนโยบายเหมาะสมกับเป้าหมายของเรา และจะให้ดี มนุษย์เงินเดือนควรลงทุนทุกเดือนโดยสม่ำเสมอ
.
7. คำนวณเงินที่ต้องมีใช้ในวัยเกษียณ
---------------------------------------------
น่าแปลกที่หลายคนกลัวว่าจะไม่มีเงินพอใช้ในวัยเกษียณ แต่หากถามกลับไปว่า ณ วันนี้มีเงินสะสมไว้เท่าไร หลายคนตอบไม่ได้ และที่แย่กว่านั้นคือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องมีเงินก้อนเท่าไหร่ถึงจะพอใช้ไปจนตาย ที่แย่ที่สุดคือส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดบอกว่าไม่เคยมีแผนการเงินเลย ทั้งๆ ที่มันสำคัญมาก ต้องรู้ และต้องมีแผนที่จะทำให้ถึงเป้าหมายนั้นมารองรับ
.
8. สำรวจบัญชีทรัพย์สิน
----------------------------
นี่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องทำบัญชีทรัพย์สินไว้ว่ามีอะไรบ้าง ทั้งบ้าน ที่ดิน ยานพาหนะ เครื่องเพชร รูปภาพ งานศิลปะ เงินฝาก หนี้สิน เงินฝาก การลงทุนต่างๆ กรมธรรม์ประกันต่างๆ ฯลฯ
สิ่งสำคัญที่ทุกคนมักละเลยคือ มีทุกอย่างที่กล่าวถึง แต่ไม่ได้จดไว้ว่าหมายเลขบัญชีเป็นเท่าไร อยู่ที่ไหนบ้าง หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันจะต้องติดต่อใคร เบอร์โทรศัพท์อะไร เรื่องพวกนี้เราต้องทำไว้ และสำเนาให้คนที่ไว้ใจได้สักชุดสองชุด
ยิ่งยุคต่อไปนี้เราอาจเข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยไม่รู้ตัว หรือเป็นข้าราชการ เป็นนักการเมือง ที่กฏหมายกำหนดให้แสดงบัญชีทรัพย์สิน เราก็ต้องใส่รายการทรัพย์สมบัติของเราให้ครบถ้วน ทุกชิ้น … ยิ่งมีหลายชิ้น จะพบว่าไม่ใช่งานง่าย จนหลายคนถึงขนาดถอดใจไม่ยอมไปทำงานเป็นเจ้าคนนายคนในตำแหน่งทางการเมืองก็มี
.
9. พินัยกรรม
---------------
หากรักและห่วงใยคนข้างหลัง จงทำพินัยกรรมให้เรียบร้อย และคอยอัปเดทปีละครั้ง อย่าปล่อยให้การจากไปของเราก่อให้เกิดเหตุเศร้าเสียใจ ที่คนที่เรารักกลับไม่ได้รับการส่งผ่านความมั่งคั่งจากเรา แต่คนที่เราชังกลับได้ไป หรือกรณีแย่สุดๆ คือทายาทเราทะเลาะแย่งสมบัติจนฆ่ากันตายไปหลายซีรีส์
.
10. แบ่งปันความมั่งคั่งให้ผู้ด้อยกว่า
-------------------------------------------
เมื่อเราพอไหว ให้รู้จักการแบ่งปันส่วนของเราให้ผู้ด้อยโอกาสที่เราไม่จำเป็นต้องรู้จักบ้าง สังคมจะน่าอยู่ขึ้นหากเรารู้จักการเสียสละ เงินไม่กี่ร้อยที่เราให้เขา มีค่าต่อเขายิ่งกว่าเงินหลายพันที่เราใส่ซองให้คู่สมรสในงานแต่งงานที่หรูหรา
ความสุขทางใจจากการให้ มันเหลือล้น ไม่เชื่อก็ลองติดตามเรื่องราวของพี่ตูน บอดี้แสลม ดูบ้าง
.
วรวรรณ ธาราภูมิ
ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง

.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประสบการณ์จริงคนขึ้นศาลคดี Easybuy

แนวทางรับมือเมื่อได้รับหมายศาลแบบบ้านๆ โดยคุณแก้วจ๋า ชมรมหนี้บัตรเครดิต

หมายศาลจะถุกส่งไปที่ไหน