เตรียมตัวให้พร้อม เพื่อเกษียณก่อนวัยอันควร
ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา
แนวโน้มความสนใจของคนรุ่นใหม่ อยากรวยเร็วและเกษียณกันเร็วขึ้น
จากแต่ก่อนต้องมีอายุ 55 หรือ 60 ปีนั่นแหละถึงจะเกษียณ
ความสนใจตรงนี้
สะท้อนได้จากกองทัพหนังสือคู่มือความรวยที่วางขายกันเกลื่อน การเติบโตขึ้นของขนาดมูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนรวม
และการเพิ่มขึ้นของผู้ทำประกันชีวิต
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปที่คุณจะวางมือจากหน้าที่การงานเร็วกว่าปกติ
ขอเพียงแค่วางแผนเพื่อเตรียมพร้อมกับชีวิตแบบนี้ให้ Fundamentals ฉบับนี้มีเรื่องการวางแผนเกษียณก่อนกำหนดมานำเสนอ
เผื่อว่าใครสนใจจะเกษียณอายุการทำงานตั้งแต่ยังไม่แก่ จะได้รู้ว่าต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง
***************
วางแผนออมให้เพียงพอในช่วงชีวิตที่เหลือ
ถ้าอยากจะเกษียณ ตอนอายุ 55 หรือเร็วกว่า 55
จะต้องทำอย่างไร???
แม้คนส่วนใหญ่จะวางแผนเกษียณตามปกติเมื่ออายุ
60 แต่ควรเป็นอย่างยิ่ง
ที่จะต้องคิดว่า ถ้าต้องเกษียณก่อนกำหนดที่วางแผนไว้ จะต้องเตรียมตัวอย่างไร เพราะในสภาพการทำงานปัจจุบัน
เราอาจจะไม่ได้เป็นผู้เลือกเองว่าจะเกษียณตอนอายุเท่าไร เพราะบางทีอาจจะถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องเกษียณ
หรือเลิกทำงานเร็วกว่าที่คาดไว้
ในสหรัฐ เคยมีการสำรวจ
และพบว่าประมาณ 40% ของคนที่เกษียณอายุแล้ว เป็นคนที่ต้องเกษียณก่อนเวลาที่ตัวเองตั้งใจไว้
โดยสาเหตุหลักมาจาก 2 เรื่องคือ สุขภาพ และเพราะถูกเลิกจ้าง
และเมื่อถูกบังคับให้เกษียณแล้ว หากจะหางานใหม่ทำ ก็ไม่ง่าย
"อัมพร"
พนักงานบริษัทคนหนึ่ง เธอตัดสินใจลาออกจากงานด้วยวัยเพียง 47 ปี เหตุผลของเธอคือ รู้สึกเบื่อเจ้านาย เบื่องาน จึงรู้สึกเหนื่อยในการที่ต้องตื่นเช้ามาทำงานทุกวัน
ปัจจุบันนี้เธออายุ 57 ปี เธอบอกว่าถ้าย้อนเวลาได้ก็คงไม่ตัดสินใจเกษียณก่อนกำหนดแน่นอน
เพราะด้วยความที่ไม่พร้อมทำให้เธอประสบกับปัญหาหลายอย่าง
จากการพูดคุยกับเธอทำให้ได้ข้อคิดหลายอย่างในการเตรียมตัวของผู้ที่ใกล้เกษียณ
หรือผู้ที่กำลังคิดจะเกษียณก่อนกำหนด คงมีหลายปัจจัยที่จะต้องพิจารณา
@ เตรียมพร้อมด้านสภาพจิตใจ
ที่เธอบอกว่าให้เตรียมพร้อมด้านสภาพจิตใจก็เพราะถ้าคุณเคยตื่นเช้ามาทำงานทุกวัน
ชีวิตวุ่นวายกับเรื่องงานทั้งวี่ทั้งวัน วันหนึ่งๆ ผ่านไปเร็วมาก แต่ถ้าต้องตื่นมาแบบไม่มีอะไรทำ
ช่วงแรกอาจยังไม่รู้สึกอะไร แต่พอนานเข้า ความเหงาความรู้สึกเบื่อหน่ายจะเข้ามาเยือน
รู้สึกวันหนึ่งๆ ทำไมมันผ่านไปช้าอย่างนี้ บางช่วงเธอถึงกับรู้สึกว่าชีวิตไร้ค่าเพราะเพื่อนในวัยเดียวกันยังทำงานอยู่
วิธีง่ายๆ ที่คุณจะรู้ว่า
การเกษียณก่อนกำหนดแล้วคุณจะไปรอดหรือไม่ ทดลองลาพักผ่อนสักครึ่งเดือน
โดยไม่ไปไหนอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ต้องไปเที่ยวที่ไหน แล้วดูซิว่าคุณรู้สึกอย่างไร ถ้ารับได้ก็ลองคิดต่อไปว่าถ้าเป็นเดือนเป็นปีจะทำใจได้หรือไม่การปรับตัวยอมรับกับการที่ไม่มีงานทำค่อนข้างยากและใช้เวลานานมาก
"ตอนที่ต้องไปทำงานทุกวัน
เราอาจจะรู้สึกท้อและเบื่อหน่ายบ้าง แต่ถ้าหากเราหมั่นสำรวจสภาพจิตใจตัวเองและหาต้นตอแห่งปัญหา
และพยายามหาทางแก้ไข ทุกอย่างก็จะผ่านไปด้วยดี" อัมพรให้ความเห็น
@เร่งทำงานและทำเงิน
"ทิพวัลย์
เอี่ยมโอภาส" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ.ธนชาต บอกว่า สภาพเช่นนี้ก็คงไม่ต่างจากในประเทศเรา
ดังนั้น เราต้องเตรียมตัวไม่ให้ต้องตกที่นั่งลำบากหากจำเป็นต้องเลิกทำงานตั้งแต่ 50
ช่วงชีวิตของคนมี 3 ช่วงหลัก ช่วงที่ 1
อายุ 20-35 ปี ช่วงเพิ่งเรียนจบ เริ่มทำงาน เริ่มมีหนี้สิน
เช่น บัตรเครดิต หรือรถคันแรก ช่วงที่ 2 อายุ 35-50 ปี แต่งงาน มีลูก ผ่อนบ้าน มีภาระของครอบครัว เช่น ส่งลูกเรียน ช่วงที่ 3
อายุ 50-65 รายได้อยู่ในระดับสูง หนี้สิน
และภาระครอบครัวเริ่มลดลงหรือหมดไป เตรียมตัวเกษียณ ถ้าโจทย์คือ
"ต้องการเกษียณตอนอายุ 50" แสดงว่า
ระยะเวลาในการทำงานหาเงิน หายไป 10 ปี คือ ช่วงอายุที่ 3
ต้องจบเมื่อเราอายุ 50 แทนที่จะเป็น 60
ถ้าจะทำให้ได้ มี 2 เรื่องหลักๆ ที่ควรต้องมีคำตอบให้กับตัวเองและครอบครัวอย่างค่อนข้างชัดเจนคือ
1.ระยะเวลาที่เราจะประสบความสำเร็จในการทำงานและการเงิน 2.ระดับมาตรฐานการใช้ชีวิต
ถ้าอยากเกษียณเร็วควรคิด 2 เรื่องนี้ไปพร้อมกัน เรื่องแรกคือ"ระยะเวลาที่เราจะประสบความสำเร็จในการทำงานและการเงิน"
เพราะหากต้องการเกษียณตอนอายุ 50 แสดงว่าในช่วง 20 ปีแรกหลังเริ่มทำงาน เราต้องทำงานหรือเก็บเงินหนักมากกว่าคนอื่น
ต้องประสบความสำเร็จในชีวิตได้เร็วคือ ช่วงที่ 2 ของชีวิต
ต้องทำให้ได้ตั้งแต่อายุ 40 หรือน้อยกว่านั้น นั่นคือ
ก่อนอายุ 40 เราต้องมี Financial Freedom หรือ "อิสรภาพทางการเงิน" ไม่ได้หมายความว่าต้องรวย แต่ต้องปลอดหนี้สินทั้งบ้าน
รถและอื่นๆ รวมถึงภาระค่าใช้จ่าย หลักๆ ของครอบครัว เช่น ค่าเรียนลูก เป็นต้น
ถึงจุดนี้เรามีเวลาเท่ากันคือ
ต้องประสบความสำเร็จก่อนอายุ 40
ส่วนแต่ละคนจะต้องทำงานหรือเก็บเงินหนักมากกว่าคนอื่นแค่ไหนขึ้นกับเรื่องที่
2 คือ "ระดับมาตรฐานการใช้ชีวิต"
เช่น ถ้าตั้งมาตรฐานการใช้ชีวิตไว้ค่อนข้างสูงกว่าคนปกติส่วนใหญ่ของประเทศ
บ้านต้อง 10-20 ล้านบาท ลูกเรียนต่างประเทศตั้งแต่เด็กทุกคน พักผ่อนต่างประเทศทั้งครอบครัวทุกปี
มีเงินสำหรับการแต่งงาน เรือนหอ รถใหม่สำหรับลูกๆ ทุกคน และหลังเกษียณเมื่ออายุ 50
ต้องการใช้ชีวิตต่างจากตอนทำงานไม่เกิน 20-30% ถ้ามาตรฐานเป็นลักษณะนี้ ก่อนอายุ 40 อาจจะต้องทำงานมากกว่า
1 อย่าง และบางอย่างอาจต้องเป็นงานที่ทำให้ได้เงินก้อนนอกเหนือจากเงินเดือน
แต่ถ้าลดมาตรฐานชีวิตลง เช่น
บ้านไม่เกิน 6 ล้าน ลูกเรียนปกติ หรือตัดสินใจไม่มีลูกเลย แบบนี้ ภายในอายุ 40 เหมือนกัน จะเหนื่อยน้อยกว่ากลุ่มแรก คำว่า "ลดมาตรฐานชีวิตลง"
ไม่ได้หมายความว่าอยู่อย่าง "ขาดแคลน" เคยได้ดูภาพยนตร์ฝรั่งเรื่องหนึ่งซึ่งสามีซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงในบริษัทเกี่ยวกับยาสูบ
ถูกให้ออกจากงาน ภรรยารับไม่ได้ที่ต้องย้ายออกจากบ้านหลังเดิมที่ใหญ่มาก ภรรยาบอกสามีว่า
สนามหลังบ้านนี้ เป็นที่ที่ลูกสาวหัดเดินเป็นครั้งแรก สามีตอบว่า "เรายังคงมีทุกอย่างเหมือนเดิม แต่ Scale เล็กลง"
คือ บ้านหลังเล็กลง สนามเล็กลงคือ ลดมาตรฐานชีวิตลง นั่นเอง
หรือที่คนวัยเกษียณในต่างประเทศทำกันคือ
ย้ายที่อยู่ ไปอยู่ในที่ที่ค่าครองชีพต่ำกว่า เช่น เงินทั้งหมดที่ได้ตอนเกษียณ อาจจะใช้ชีวิตได้ไม่สบายนักในประเทศของเขา
จึงเห็นฝรั่งบางกลุ่มย้ายมาอยู่ที่ภูเก็ต ซึ่งเงินจำนวนเดียวกันใช้ชีวิตได้อย่างสบาย
หรือผู้ใหญ่บางท่านหลังเกษียณย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดเพราะสบายกว่า และไม่มีค่าใช้จ่ายทางสังคมมากนัก
สรุปถ้าต้องการเกษียณตอนอายุ 50 ต้องเร่งประสบความสำเร็จในการทำงานและทำเงินให้เร็วใน
20 ปีแรกที่ทำงาน แต่ต้องประสบความสำเร็จแค่ไหน
ขึ้นกับระดับมาตรฐานชีวิต หรือ lifestyle ที่ท่านเลือก
@ตัวอย่างของคนเกษียณเร็ว
ทิพวัลย์ ยกตัวอย่าง
คนธรรมดาที่ทำให้ตัวเองเกษียณตอนอายุ 50
ได้จริง ๆ Paul Matych ทำงานประกันอยู่ที่ TAMPA สหรัฐ
เขาไม่ได้วางแผนมาก่อนว่าจะเกษียณตอนอายุ 50 แต่บริษัทเปลี่ยนผู้บริหารและนโยบาย
จนเขาอึดอัด ในวันเกิดครบ 50 ปีของเขา เขากลับมานั่งทบทวนฐานะการเงิน
และพบว่าเขาไม่ต้องทนทำงานในสภาพนั้นอีกต่อไป เขาตัดสินใจลาออก
ที่เขาทำได้
เพราะเขาวางแผนการเงินและการใช้ชีวิตได้ดีมาก เขาอยู่ท่ามกลางคนทำงานที่หาเงินได้ 1 ล้าน ก็ใช้จ่าย 1
ล้าน แต่เขาตัดสินใจใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง เขาเก็บเงินหนักมือ สิ่งแรกที่เป็นการตัดสินใจที่ถูกมากคือ
การผ่อนซื้อบ้านหลังปัจจุบันที่เขาอยู่ โดยทำตามที่นักบัญชีแนะนำ ว่า
ถ้าเขาผ่อนบ้านได้หมดเร็ว ก็จะทำให้มีเงินเหลือมาลงทุนได้มากขึ้น
เพราะภาระผ่อนบ้านเป็นภาระหนัก ที่จะทำให้เราหยุดอยู่กับที่ โดยเฉพาะในช่วง 7-8
ปีแรก ที่เงินผ่อนบ้านส่วนใหญ่นำไปตัดดอกเบี้ยไม่ใช่เงินต้น
นอกจากนี้ Paul Matych เริ่มกระจายการลงทุนในกองทุนรวมประมาณ
9 กองทุน ทั้งกองทุน Index fund กองหุ้น
กองทุน Sector Fund และกองทุนตลาดเงิน (Money Market
Fund)
การลงทุนของเขาเป็นการลงทุนระยะยาว
โดยเริ่มลงทุนตั้งแต่ปี 1990
โดยผ่านช่วงที่ตลาดหุ้นสหรัฐตกต่ำ จนทำให้ผู้ลงทุนวัยเกษียณทั้งหลายเป็นห่วงเงินลงทุนของตน
แต่เขายืนยันว่าเขานอนหลับสบายดีในช่วงนั้น เพราะเขาแบ่งเงินลงทุนซึ่งมีจำนวนเท่ากับค่าใช้จ่ายในครอบครัวสำหรับระยะเวลา
3 ปี ไว้ใน กองทุนตลาดเงิน (Money Market Fund) ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำกว่ามาก โดยเขาให้ความเห็นว่า ถ้าจะเกษียณ ต้องมีเงินสดพร้อม
เพราะการลงทุนในตลาดหุ้น ผู้ลงทุนต้องเตรียมใจวางแผนเพราะตลาดมีโอกาสตกได้
Paul Matych และภรรยา
ตกลงกันว่าเมื่อเขาลาออกจากงาน ครอบครัวจะใช้ชีวิตแบบปานกลาง
แต่มีทุกอย่างที่จำเป็นและต้องการ
"เราพยายามมีชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบาย แต่ไม่ใช้ชีวิตแบบ crazy"
เขาและภรรยาใช้รถคุณภาพดีแต่ไม่ใหม่อายุ
4-5 ปี ทำสวนและทำความสะอาดสระว่ายน้ำกันเอง
ตอนยังทำงานอยู่เขาพาครอบครัวไปเที่ยวฮาวาย และ Virgin Island
ตอนนี้ไม่ได้ทำงานแล้ว เขาพาลูกสาวไปเที่ยว Disney World และไม่เคยคิดจะหวนกลับไปทำงานอีกเลย นอกจากใช้ชีวิตกับครอบครัวแล้ว
เขายังตกปลา เล่นกอล์ฟ ซ่อมของในบ้าน เลี้ยงกล้วยไม้ และปลูกกุหลาบ
ที่สำคัญหลังเลิกทำงานคือ ต้องมีอะไรทำไปข้างหน้า
และเน้นว่าไม่มีความสัมพันธ์โดยตรง (correlation) ระหว่างจำนวนเงินที่ทำมาหาได้กับความสุขของคนๆ
นั้น
อีกตัวอย่างนึงเป็นโบรกเกอร์ที่เกษียณตัวเองเมื่ออายุ
54 เพราะกลัวว่าอยู่ต่อไปจะถูกให้ออก
เขาเปลี่ยนชีวิตไปเขียนรูปและปั้นประติมากรรมขาย เงินที่ได้
เอาไปซื้องานศิลป์อื่นๆ เก็บไว้ต่อ เป็นการลงทุนอีกแบบหนึ่ง
ทิพวัลย์เล่าอีกว่า
มีผู้บริหารคนหนึ่งอายุ 40
กว่า และวางแผน early retire เหมือนกัน
ให้แนวคิดซึ่งน่าสนใจไว้ว่า
ตอนที่เรา early retire หรือเลิกทำงานเราจะต้องมี
3 เรื่องนี้จึงจะเป็นการเกษียณอย่างมีความสุข นั่นคือ1.มีอิสระทางการเงิน (financial freedom) ปลอดหนี้สิน
และภาระทุกประการ 2.มีงานอดิเรกที่ชอบทำ เพื่อให้ไม่ว่าง
3.มีเพื่อนกลุ่มที่คุยกันรู้เรื่อง ชอบอะไรคล้ายๆ กัน ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งจะไม่มีความสุขจากการเกษียณ
และมีโอกาสอย่างมากที่จะหันกลับไปหางานทำใหม่
"ทฤษฎีด้านการบริหารจัดการเงินส่วนตัว
ที่คุณเคยได้ยินบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มออมตั้งแต่อายุยังน้อย
เพื่อให้เงินทำงานแบบทบต้น การลงทุนในทางเลือกที่ทำให้คุณแตะต้องเงินไม่ได้จนกว่าจะเกษียณ
หรือการลงทุนในทางอื่นๆ ก็เป็นหลักการทั่วไปที่ทุกๆ คนทราบกันดี แต่ในความเป็นจริงทุกคนมีรายละเอียดในชีวิตที่แตกต่างกันมาก
คงต้องค่อยๆ คิด และทบทวน เพราะเชื่อว่าทางไปของแต่ละคนเพื่อให้เกษียณก่อนอายุ 50
คงจะมีหลากหลายมาก แต่ถ้าทำได้ทั้งกายและใจ
คิดว่าเป็นชีวิตที่จะมีความสุขอย่างมาก และเป็นกลุ่มคนพิเศษที่ได้มีความสุขยาวนานกว่าคนอื่น
ๆโดยเฉลี่ย" ทิพย์วัลย์ให้ทัศนะ
@วางแผนออมให้เพียงพอในช่วงชีวิตที่เหลือ
ใครที่ต้องการเกษียณก่อนกำหนด ต้องพิจารณาว่าควรจัดการกับตัวเองอย่างไรเมื่อเกษียณ
ลองนึกดูสิว่าระยะเวลาอีก
20-30 กว่าปี ที่ต้องว่างงาน คุณอาจรู้สึกว่าเป็นเวลาที่ยาวนานจนอาจทำให้เกิดความเบื่อหน่าย
หลักสำคัญของการเกษียณก่อนกำหนดคือ
การวางแผนล่วงหน้าเพื่อให้มีเงินออมเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ซึ่งในรายละเอียดของแผนการออมเงินนั้น
มีหลายสิ่งหลายอย่างที่คุณต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นการตัดงบค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณ หรือบางคนหาวิธีเพิ่มเงินออมด้วยการทำงานนอกเวลา
การหางานทำสำหรับผู้ที่วัย 55 ปีแล้วนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน
แต่หากเป็นงานที่ทำแบบไม่เต็มเวลาอาจหาได้ง่ายกว่า ผู้ที่เกษียณก่อนกำหนดบางคนอาจพบว่า
ตัวเองยังสามารถมีชีวิตที่ดีได้ด้วยการเป็นที่ปรึกษา หรือให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ ตามความเชี่ยวชาญของตัวเอง
หรือมีบางคนก็ไปทำอาชีพที่เคยใฝ่ฝันมาตลอด
การเตรียมความพร้อมด้านการเงินถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
บางคนรีบลาออกด้วยอารมณ์ ทั้งที่ยังไม่มีความพร้อมด้านการเงิน หรือบางครั้งหวังพึ่งพาคนอื่น
เช่น สามี หรือ ภรรยา ฯลฯ ขอบอกว่าระยะยาวลำบากแน่ มีหลายคนที่ต้องอยู่คนเดียวด้วยเงินก้อนหนึ่งที่ต้องใช้อย่างระมัดระวังมากๆ
ที่จริงแล้วการเตรียมการเกษียณอายุเราต้องกำหนดตั้งแต่เริ่มแรกทำงานแล้วว่าจะหยุดการทำงานที่อายุเท่าไร
หลังเกษียณแล้วจะต้องใช้เงินเท่าไร
ถ้ายังไม่พร้อม ก็อย่าเพิ่ง
เพราะยังต้องเตรียมเงินค่ารักษาพยาบาลอีก และการใช้จ่ายหลังจากนี้ไปต้องดำเนินไปอย่างระมัดระวัง
เพราะเงินมีแต่ไหลออกไม่มีไหลเข้าแล้ว
"ดวงมน
จึงเสถียรทรัพย์" ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับธุรกิจนายหน้าและค้าหลักทรัพย์ สำนักงาน
ก.ล.ต. บอกว่าสำหรับคนที่วางแผนเกษียณก่อนกำหนด ต้องคิดเรื่องการออมเงินไว้ล่วงหน้าเลย
ล่วงหน้านานอย่างน้อย 10 ปีก่อนเกษียณ
"ที่ต้องนานขนาดนี้เพราะบางคนอ้างว่ามีลูก
กว่าลูกจะเรียนจบ ตัวเองก็อายุ 45 ปี แล้ว ระหว่างลูกเรียน
ลูกต้องกินต้องใช้ด้วยเงินพ่อแม่ พ่อแม่เลยไม่มีเงินเก็บ ไม่เป็นไรมาเริ่มเก็บเงินตอน
45 ปี ก็ได้ แต่ถ้ายังไม่เริ่มอีก ถือว่าวิกฤติมาก"
ส่วนจะต้องออมเท่าไรนั้น
ต้องถามตัวเองว่าเกษียณแล้วว่าจะมีชีวิตอยู่อีกกี่ปีล่ะ เรื่องนี้ไม่มีใครตอบได้
แต่ถ้าดูกันตามสถิติ มีการค้นคว้าไว้ว่า ผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย 78 ผู้ชาย โชคดีกว่า แค่ 76
ปี ดังนั้น ถ้าเกษียณที่ 55 ปี ก็ยังอยู่โดยไม่มีเงินเดือนไปอีก
23 ปี เชียวนะ และถ้าเริ่มออมตอนอายุ 45 ปี ก็เท่ากับมีเวลาออม 10 ปี สำหรับอยู่ต่ออีกได้ 23
ปี ถ้าเกษียณที่ 60 ปี ก็มีเวลาออม 15 ปี สำหรับอยู่ต่ออีก 18 ปีเพื่อให้คิดง่ายๆ
ใช้ตัวเลขแบบกลางๆ ว่า มีเวลาออม 10 ปี
เพื่อสำหรับใช้ตอนไม่มีเงินเดือน อีก 20 ปี
อย่างนี้ก็จะเห็นภาพว่า ออมไว้เดือนละเท่าไร ตอนเกษียณต้องใช้สำหรับ 2 เดือนนะ หรือกลับกันคือ อยากมีเงินใช้เดือนละเท่าไร ขณะนี้ ต้องออมไว้ให้ได้ครึ่งหนึ่ง
เหนืออื่นใด
ต้องเตรียมความพร้อมของครอบครัวเอาไว้ด้วย ยิ่งถ้าคุณมีครอบครัวและมีลูก ก็ต้องคิดเผื่อถึงเรื่องนี้ไว้ด้วยว่าคนในครอบครัวจะมีความเห็นเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ ยังต้องคิดเผื่อว่าชีวิตหลังจากนี้จะทำอะไรดี ซึ่งนั่นหมายความว่าจะต้องมีการวางแผน
และเตรียมก่อนตัดสินใจเกษียณเป็นอย่างดี
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น